HAPPY HOME CLINIC

ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม

รวบรวมและเผยแพร่ ข้อมูลความรู้ทางวิชาการ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็กและวัยรุ่น
รวมถึงการรับจัดฝึกอบรม สัมมนา กิจกรรมวิชาการ นิทรรศการเผยแพร่ความรู้
เพื่อเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง ผู้ปกครอง นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปที่สนใจ

H   A   P   P   Y       H   O   M   E       A   C   A   D   E   M   Y

 

Anxiety disorders in childhood

 

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

 

โรควิตกกังวลในเด็ก (Anxiety disorders in childhood) มีความหมายครอบคลุมถึงเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี เป็นโรคทางจิตเวชที่พบได้บ่อยในเด็ก และมีผลทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง และเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า การใช้สารเสพติด ปัญหาพฤติกรรม ปัญหาการเรียน ถ้าไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม

จากรายงานของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา ในเด็กและวัยรุ่น พบถึงร้อยละ 9.4 และจากรายงานการวิเคราะห์อภิมาน (meta-analysis) พบในทุกกลุ่มวัยทั่วโลก ร้อยละ 7.3 โดยพบโรคกลัวแบบเฉพาะเจาะจงบ่อยที่สุด พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 1.5 ถึง 2 เท่า ส่วนใหญ่มักเริ่มมีอาการในช่วงวัยรุ่น

“ความวิตกกังวล” (anxiety) คือ ปฏิกิริยาทางอารมณ์ ทางการรับรู้ และทางสรีรวิทยา ที่มีต่อภัยอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งที่เป็นเรื่องจริงหรือเรื่องที่จินตนาการขึ้นมา ส่วน “ความกลัว” (fear) คือ ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นเมื่อเผชิญหน้ากับภัยคุกคามจริง ๆ ในปัจจุบัน เช่น เห็นงู

ความวิตกกังวลและความกลัว ถ้ามีในระดับที่เหมาะสมจะช่วยให้เราสามารถปรับตัวได้ เป็นการเตรียมความพร้อมที่เหมาะสมสำหรับความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

แต่ถ้ามีปฏิกิริยาวิตกกังวลรุนแรงจนทำให้เกิดความทุกข์ทางใจ หรือส่งผลกระทบต่อหน้าที่การทำงาน ผลการเรียน ความสัมพันธ์ในครอบครัวหรือเพื่อนฝูง ก็ถือเป็นความผิดปกติทางคลินิก เรียกว่า “โรควิตกกังวล”

ในการพิจารณาว่า ความวิตกกังวลอยู่ในระดับที่เหมาะสมหรือผิดปกติ จะพิจารณาอายุของเด็ก และบริบททางสังคมวัฒนธรรมร่วมด้วย เช่น ความวิตกกังวลในการแยกจากกัน และความวิตกกังวลต่อคนแปลกหน้า มีความเหมาะสมตามระดับพัฒนาการ เมื่ออายุ 8 เดือน จนถึงอายุ 2 ปี และเป็นธรรมดาที่เด็กปฐมวัยมักกลัวความมืด และพวกสัตว์ประหลาดต่าง ๆ เด็กวัยเรียนระดับประถมจะกลัวพายุ ฝนฟ้าคะนอง ความวิตกกังวลที่เหมาะสมเหล่านี้จะค่อย ๆ จางหายไปตามกาลเวลา แต่ถ้าความวิตกกังวลเหล่านี้ยังคงอยู่ และไปรบกวนชีวิตประจำวัน ก็จะกลายเป็นโรควิตกกังวล

ความวิตกกังวล มีองค์ประกอบ 3 ด้าน คือ พฤติกรรม ความคิด และสรีรวิทยา ดังนี้

    1) พฤติกรรม (behavior) เกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่เร้าหรือกระตุ้น
    2) ความคิด (cognition) เกี่ยวกับความทุกข์ใจเกี่ยวกับเหตุการณ์ในอนาคต ความยากลำบากในการควบคุมสถานการณ์ การคาดการณ์ถึงกรณีเลวร้ายที่สุดทั้งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น
    3) สรีรวิทยา (physiology) เกี่ยวข้องกับความตื่นตัวของระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น เหงื่อออก ใจสั่น หน้าแดง หายใจเร็วเกิน และอาการทางร่างกายอื่น ๆ

โรควิตกกังวลในเด็ก ประเมินได้ยากเมื่อเทียบกับในผู้ใหญ่ เพราะว่า ผู้ปกครองเองก็แยกความแตกต่างจากความวิตกกังวล หรือความกลัวแบบปกติตามวัยไม่ค่อยได้ เด็กเองก็บอกเล่าถึงอารมณ์ตนเองไม่ค่อยถูก มักบรรยายเป็นอาการทางกาย เช่น ปวดท้อง ปวดหัว ทำให้สับสนกับโรคทางกายได้ โดยทั่วไปแยกความแตกต่างโดยพิจารณาจากระยะเวลาที่เป็น ระดับความรุนแรง และส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน

โรควิตกกังวลในเด็ก แบ่งออกเป็นหลายลักษณะ เหมือนกับในผู้ใหญ่ ดังนี้

    1) โรควิตกกังวลต่อการแยกจาก (separation anxiety disorder; SAD)
    2) ไม่พูดบางสถานการณ์ (selective mutism; SM)
    3) โรคกลัวแบบเฉพาะเจาะจง (specific phobia; SP)
    4) โรควิตกกังวลต่อการเข้าสังคม (social anxiety disorder) หรือกลัวการเข้าสังคม (social phobia; SoP)
    5) โรควิตกกังวลทั่วไป (generalized anxiety disorder; GAD)
    6) โรคแพนิค (panic disorder; PD)
    7) โรคกลัวที่ชุมชน (agoraphobia)

นอกจากนี้ยังมี โรควิตกกังวลที่เกิดจากการกระตุ้นด้วยยาหรือสารเสพติด (substance/medication-induced anxiety disorder) โรควิตกกังวลที่เกิดจากภาวะเจ็บป่วยทางกายอื่น ๆ (anxiety disorder due to another medical condition) โรควิตกกังวลที่เกิดจากเหตุอื่น ๆ นอกเกณฑ์การวินิจฉัยข้างต้น (other specified anxiety disorder) จนถึงโรควิตกกังวลที่ไม่สามารถระบุเหตุได้ (unspecified anxiety disorder)

 

โรควิตกกังวลต่อการแยกจาก (separation anxiety disorder; SAD)

เป็นความวิตกกังวลต่อการแยกจากผู้ปกครอง หรือเมื่อไปในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย ทำให้เด็กกลัวการถูกทอดทิ้ง ถือว่าเป็นพฤติกรรมปกติตามพัฒนาการในช่วงวัยทารก และวัยเตาะแตะ

เด็กมักมีอาการวิตกกังวลรุนแรงเมื่อแยกจากผู้ปกครอง รู้สึกหงุดหงิดฉุนเฉียวเมื่อคนที่ไม่คุ้นเคยเข้าใกล้ ตื่นตระหนก ร้องไห้งอแง ร้องอาละวาด ไม่ยอมไปโรงเรียน โดยมีอาการนานกว่า 4 สัปดาห์

 

ไม่พูดบางสถานการณ์ (selective mutism; SM)

เป็นอาการที่เด็กจะไม่พูดในบางสถานการณ์ หรือเวลาอยู่กับบุคคลที่ไม่คุ้นเคย แต่สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ปกติ และสามารถพูดได้ปกติเมื่ออยู่กับบุคคลที่คุ้นเคย เช่น สมาชิกในครอบครัว

เด็กมักจะไม่พูดในบางสถานการณ์ เช่น ที่โรงเรียน หรือเมื่ออยู่นอกบ้าน ทั้ง ๆ ที่เด็กสามารถพูดคุยได้ปกติเมื่ออยู่ที่บ้าน โดยมีอาการนานกว่า 4 สัปดาห์

 

โรคกลัวแบบเฉพาะเจาะจง (specific phobia; SP)

เป็นความกลัวสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง อาจเป็นสัตว์ สิ่งของ สถานการณ์ หรือกิจกรรมบางอย่าง เช่น แมงมุม เข็มฉีดยา เลือด เสียงฟ้าร้อง ความสูง โดยมักเกิดขึ้นในช่วงเด็กวัยเรียน

เด็กเมื่อเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัวโดยตรง หรือแค่นึกถึง จะมีอาการกลัว ตื่นตระหนก เหงื่อแตก ใจสั่น เวียนศีรษะ หายใจหอบ ร้องไห้งอแง ไม่ยอมอยู่ห่างจากพ่อแม่ และหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้สิ่งที่กลัว โดยมีอาการนานกว่า 6 เดือน

 

โรควิตกกังวลต่อการเข้าสังคม (social anxiety disorder)

หรือกลัวการเข้าสังคม (social phobia) เป็นความวิตกกังวลเกี่ยวกับการเข้าสังคม กลัวการแสดงออกต่อหน้าคนอื่นที่อาจจะทำให้รู้สึกอับอาย กลัวคนอื่นวิพากษ์วิจารณ์ กลัวเมื่อต้องทำกิจกรรมกลุ่มกับเพื่อน กลัวเมื่อต้องนำเสนอหน้าชั้นเรียน

เด็กมักหลีกเลี่ยงการเข้าสังคม เก็บตัว ไม่อยากพบปะผู้อื่นที่ไม่คุ้นเคย หรือไม่กล้าแสดงออกต่อหน้าคนหมู่มาก โดยมีอาการนานกว่า 6 เดือน

 

โรควิตกกังวลทั่วไป (generalized anxiety disorder; GAD)

เป็นความวิตกกังวลต่อเหตุการณ์ทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่น เพื่อน การเรียน ครอบครัว มักวิตกกังวลกับสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น และไม่เจาะจงอยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ทำให้ขาดความมั่นใจ ไม่อยากไปโรงเรียน ไม่อยากพบปะผู้คน ไม่อยากทำกิจกรรมร่วมกับคนอื่น

เด็กมักมีอาการทางร่างกาย เช่น ปวดหัว ปวดท้อง อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ และอาการทางจิตใจ เช่น ไม่สบายใจ ไม่มีสมาธิ คิดวนไปเรื่อย ๆ โดยมีอาการนานกว่า 6 เดือน

 

โรคแพนิค (panic disorder; PD)

หรือโรคตื่นตระหนก เป็นภาวะตื่นตระหนกของร่างกายต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยไม่สมเหตุสมผล จนทำให้เกิดความวิตกกังวลอย่างมาก มักเกิดในวัยรุ่นไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ พบได้น้อยในเด็กเล็ก

เด็กมักมีเหงื่อแตก ใจสั่น คลื่นไส้ ไม่สบายท้อง มึนศีรษะ หายใจไม่ทัน เจ็บหน้าอก ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นทันทีทันใด และเกิดความกลัวว่าจะเป็นอะไรที่ร้ายแรงหรือกำลังจะตาย เป็นประมาณ 5–20 นาที แล้วค่อย ๆ หายไป โดยมีอาการหลายครั้ง นานกว่า 4 สัปดาห์

 

โรคกลัวที่ชุมชน (agoraphobia)

เป็นความกลัวที่ไม่สมเหตุสมผลว่า จะติดอยู่ในสถานที่ หรือสถานการณ์ที่กลัว หรือไม่มีใครให้ความช่วยเหลือได้ หากมีอาการแพนิคหรือตื่นตระหนกขึ้นมา หรือเมื่อมีควารู้สึกอับอายเกิดขึ้น หรือเป็นในเด็กกลัวการสูญเสีย

เด็กมักหลีกเลี่ยงอย่างน้อย 2 สถานการณ์ต่อไปนี้ คือ การขนส่งสาธารณะ พื้นที่เปิดโล่ง พื้นที่ปิด ฝูงชน การอยู่นอกบ้าน โดยมีอาการนานกว่า 6 เดือน

 

การบำบัดรักษา

หลังจากจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ประเมินอาการจากประวัติ อาการต่าง ๆ ที่พบเห็น ประเมินสภาวะทางจิตใจ และสรุปการวินิจฉัยแล้วว่าเป็นโรควิตกกังวล แนวทางการบำบัดรักษา ประกอบด้วย

    1) การให้คำแนะนำเบื้องต้นเกี่ยวกับการดูแลตนเอง เช่น ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้พียงพอ ฝึกเทคนิคการคลายเครียด
    2) การให้ความรู้สำหรับผู้ปกครอง (psycho-education) ในการดูแล รับฟัง และให้กำลังใจ
    3) การให้คำปรึกษา (counseling)
    4) การทำจิตบำบัดโดยวิธีปรับความคิดและพฤติกรรม (cognitive behavioral therapy; CBT)
    5) การทำจิตบำบัดรูปแบบต่าง ๆ เช่น การบำบัดผ่านการเล่นในเด็ก (play therapy) จิตบำบัดแบบสัมพันธภาพ (interpersonal psychotherapy) จิตบำบัดแบบประคับประคอง (supportive psychotherapy) จิตบำบัดเชิงลึก (insight-oriented psychotherapy)
    6) การใช้ยารักษา (pharmacotherapy) ในกรณีที่อาการส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันมาก ซึ่งเป็นการรักษาที่มีประสิทธิผลดี มีการใช้ยาหลายชนิดตามลักษณะของอาการและระดับความรุนแรง
    7) การรักษาโดยใช้เทคโนโลยีเสมือนจริง (virtual therapy) นำมาใช้ในการรักษา โรคกลัวแบบเฉพาะเจาะจง โรคกลัวที่กว้าง และโรควิตกกังวลต่อการเข้าสังคม
    8) การรับไว้รักษาในโรงพยาบาล (hospitalization) เฉพาะในกรณีที่จำเป็นต้องหาสาเหตุเพิ่มเติม เช่น ภาวะโรคทางกายอื่น ๆ หรือเกิดจากการกระตุ้นด้วยยาหรือสารเสพติด

ระยะเวลาในการบำบัดรักษาโรควิตกกังวล ขึ้นอยู่กับอาการและสาเหตุของเด็กแต่ละคน บางคนอาจมีอาการเพียงช่วงสั้น ๆ แต่บางคนอาจมีอาการในระยะยาวที่ต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง

 

เอกสารอ้างอิง

American Psychiatric Association, Anxiety Disorders. In: American Psychiatric Association. (2013). Diagnostic and statistical manual of mental disorders 5th ed. (DSM-5). Washington DC: American Psychiatric Publishing; pp. 189-233.

Boland, R. & Verduin, M. L., eds. (2022). Anxiety disorders. In: Kaplan and Sadock’s synopsis of psychiatry, 12th ed. (e-book). Wolters Kluwer; pp. 1285-1325.

Centers for Disease Control and Prevention, U.S. Department of Health and Human Services. (2022). Mental health surveillance among children - United States, 2013-2019. MMWR, (Suppl). 71(2): 1-42.

Strawn, J. R., Lu, L., Peris, T., Levine, A. & Walkup, J. T. (2021). Research review: peadiatric anxiety disorders: what have we learnt in the last 10 years? J Child Psychol Psychiatry. 62(2): 114–139.

Taylor, J. H., Lebowitz, E. R. & Silverman, W. K. (2018). Anxiety disorders. In: Lewis’s child and adolescent psychiatry: a comprehensive textbook, 5th ed. Martin, A., Volkmar, F. R. & Bloch, M., eds. Philadelphia: Wolters Kluwer, pp. 1419-1445.

Thibaut, F. (2022). Anxiety disorders: a review of current literature. Dialogues Clin Neurosci. 19(2): 87-88.

World Health Organization. (1993). The ICD-10 classification of mental and behavioural disorders: diagnostic criteria for research. [Electronic version]. Geneva, WHO.

.

 

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2565). โรควิตกกังวลในเด็ก. จาก https://www.happyhomeclinic.com/sp11-anxiety.html

(บทความต้นฉบับ: ตุลาคม 2565)

 

ดาวน์โหลดบทความ »

 

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา

จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การศึกษา

· แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
· วุฒิบัตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น (จุฬาฯ)

ข้อมูลเพิ่มเติม »

 

Autism Spectrum Disorder

Attention Deficit/ Hyperactivity Disorder

Specific Learning Disorder

Intellectual Disability

Child Development

Tourette's Disorder

Depressive Disorders in Adolescence

Bipolar Disorder in Childhood

Anxiety disorders

Separation Anxiety Disorder

Selective Mutism

Trichotillomania

ADHD-faq

Bullying

Cyberbullying

Gaming Disorder

Screen Addiction

Cannabis IQ

alternative therapy

ข้อมูลเพิ่มเติม »