HAPPY HOME CLINIC

ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม

รวบรวมและเผยแพร่ ข้อมูลความรู้ทางวิชาการ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็กและวัยรุ่น
รวมถึงการรับจัดฝึกอบรม สัมมนา กิจกรรมวิชาการ นิทรรศการเผยแพร่ความรู้
เพื่อเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง ผู้ปกครอง นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปที่สนใจ

H   A   P   P   Y       H   O   M   E       A   C   A   D   E   M   Y

 

Bullying

 

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

 

“การบูลลี่” (bullying) คือ การกลั่นแกล้ง ข่มเหงรังแกผู้อื่น ให้เสียหาย อับอาย และเป็นทุกข์ โดยการกระทำ คำพูด การกีดกันทางสังคม หรือผ่านทางไซเบอร์

การบูลลี่ เป็นพฤติกรรมที่ทำโดยตั้งใจ เพื่อให้เหยื่อเกิดความรู้สึกอึดอัด โกรธ กลัว หรือเสียใจ เกิดขึ้นซ้ำมากกว่า 1 ครั้ง หรือมีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นอีก แตกต่างจากการหยอกล้อเล่นกันทั่วไปตรงที่ผู้ถูกกระทำไม่มีความรู้สึกร่วม ไม่สนุก หรืออยากเล่นด้วย

การบูลลี่เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในวัยเรียนและมักเกิดในโรงเรียน แต่ก็สามารถเกิดขึ้นในที่อื่น ๆ ได้ เช่น สนามเด็กเล่น ห้องน้ำ รถรับส่งนักเรียน ฯลฯ ถ้าเป็นการบูลลี่ทางไซเบอร์ สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา

ผู้กระทำมักมีพลังอำนาจ (position of power) ที่เหนือกว่าทางใดทางหนึ่ง เช่น ตัวใหญ่กว่า แข็งแรงกว่า มีอาวุโสกว่า ได้รับการยอมรับทางสังคมมากกว่า มีฐานะทางสังคมสูงกว่า ในขณะที่เหยื่อการบูลลี่ มักเป็นกลุ่มเปราะบาง ผู้ที่มีความบกพร่องหรือต้องดูแลช่วยเหลือเป็นพิเศษ หรือผู้ที่ขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง ขาดทักษะทางสังคม

 

ประเภทของการบูลลี่

การบูลลี่สามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ โดยทั่วไปแบ่งเป็น 4 ประเภท ดังนี้

1) การบูลลี่ทางร่างกาย (Physical Bullying)

เป็นการกลั่นแกล้งที่สังเกตเห็นได้ชัดเจน ตั้งแต่การทำร้ายร่างกายเบาๆ ไปจนถึงขั้นรุนแรง ทำให้บาดเจ็บ เช่น ถุยน้ำลายใส่ ผลักให้ล้ม ตบ ตี ต่อย เตะ ฯลฯ รวมถึงการทำให้ข้าวของเสียหาย เอาของไปซ่อนหรือทิ้ง ฯลฯ

2) การบูลลี่ทางคำพูด (Verbal Bullying)

เป็นการกลั่นแกล้งที่รวมทั้งคำพูดที่พูดออกไป ท่าทางที่แสดงออก หรือผ่านการเขียนด้วยถ้อยคำหยาบคาย จนทำให้อีกฝ่ายรู้สึกไม่ดี เช่น การล้อเลียนท่าทาง การล้อปมด้อยทางรูปร่าง (body shaming) การตั้งฉายา การล้อชื่อพ่อแม่ การด่าทอ การว่าร้ายเกี่ยวกับเพศสภาพ การเยาะเย้ย การข่มขู่ด้วยคำพูด การแสดงสีหน้าหรือสัญญาณมือที่หยาบคาย ฯลฯ

3) การบูลลี่ทางสังคม (Social Bullying)

เป็นการกลั่นแกล้งเพื่อทำให้อีกฝ่ายอับอายและไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม ส่งผลให้ผู้ถูกกระทำไม่อยากเข้าสังคม เช่น การปล่อยข่าวลือ การกีดกันไม่ให้เข้ากลุ่มหรือทำกิจกรรมร่วมด้วย การกีดกันคนอื่นไม่ให้เป็นเพื่อนหรือคุยด้วย การหัวเราะเยาะเมื่ออีกฝ่ายทำอะไรผิดพลาด ฯลฯ

4) การบูลลี่ทางไซเบอร์ (Cyberbullying)

เป็นการกลั่นแกล้งผ่านทางอินเตอร์เน็ตรวมถึงผ่านโทรศัพท์มือถือ ในรูปแบบของภาพ เสียง ข้อความ เช่น การโทรศัพท์ไปคุกคามข่มขู่ การพิมพ์ข้อความที่เป็นคำหยาบหรือกล่าวหาในทางไม่ดี การโพสต์ข้อมูลส่วนตัวของผู้อื่นให้เป็นที่อับอาย การเผยแพร่ภาพอนาจาร การสร้างบัญชีบนช่องทางออนไลน์เพื่อโจมตีอีกฝ่ายในทางเสียหาย ฯลฯ

 

ผลกระทบจากการบูลลี่

การถูกบูลลี่ ส่งผลกระทบได้ทุกด้าน ทั้งทางร่างกาย จิตใจ สังคม และการเรียน ดังนี้
1) ทางร่างกาย เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง มวนท้อง เหน็ดเหนื่อยจากการอดนอน อ่อนเพลีย สุขภาพไม่แข็งแรง
2) ทางจิตใจ เช่น หงุดหงิด โมโห อับอาย ละอายใจ สูญเสียความสนใจในสิ่งที่เคยรัก รู้สึกถูกคนอื่นหัวเราะเยาะ รู้สึกไร้ค่า
3) ทางสังคมและการเรียน เช่น ปัญหาความสัมพันธ์กับเพื่อนและคนในครอบครัว แยกตัว ผลการเรียนถดถอย ขาดเรียนบ่อย ออกจากโรงเรียนกลางคัน

ความรู้สึกอับอาย รู้สึกถูกคนอื่นหัวเราะเยาะ เป็นสิ่งที่ปิดกั้นเหยื่อ ทำให้ไม่กล้าพูดออกมา ไม่ร้องขอความช่วยเหลือ และไม่หาทางแก้ไขปัญหาที่เหมาะสม ทำให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงตามมา เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า พฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง และอาจถึงกับพยายามฆ่าตัวตาย

ร้อยละ 38 ของเหยื่อที่ถูกบูลลี่ กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้รู้สึกอารมณ์เสียและหวาดกลัวมาก และยิ่งวิตกกังวลมากขึ้นเมื่อผู้กระทำยังคงอยู่ใกล้ตัวหรือเป็นผู้ใหญ่

 

การรับมือการบูลลี่

เมื่อถูกบูลลี่ ไม่ว่าจะรูปแบบไหนก็ตาม ควรรับมือกับการบูลลี่ ดังนี้
1) พึงระลึกอยู่เสมอว่าเราไม่ได้อยู่คนเดียว มีคนรอบข้างที่คอยห่วงใย ซึ่งสามารถขอความช่วยเหลือได้ ได้แก่ พ่อแม่ ครู และเพื่อน
2) ไม่ควรตอบโต้ด้วยความรุนแรง เพราะผลลัพธ์จะยิ่งบานปลายและรุนแรงมากขึ้น
3) สงบนิ่ง และพยายามแสดงให้เห็นว่าเราไม่ได้รู้สึกกลัวหรืออ่อนแอ คนที่มาบูลลี่ก็จะรู้สึกว่าไม่สามารถควบคุมเราได้และเลิกยุ่งกับเราไปเอง
4) ฝึกจัดการอารมณ์ ความรู้สึกโกรธ กลัว เพื่อไม่ให้ผู้กระทำเห็นว่าเราไม่พอใจหรือหวาดกลัว ซึ่งจะยิ่งทำให้คุกคามเรามากขึ้น
5) หากไม่สามารถหยุดความวิตกกังวลได้ ให้พยายามมองหาสิ่งที่สนใจทำ และเปลี่ยนความสนใจไปที่สิ่งนั้นแทน
6) พยายามเก็บหลักฐานที่ถูกบูลลี่ เช่น รูปภาพ ข้อความ ภาพถ่ายร่องรอยการบาดเจ็บ เพื่อใช้ในการดำเนินคดีตามกฎหมายถ้าจำเป็น
7) ถ้าถูกบูลลี่ทางไซเบอร์ สิ่งแรกที่ควรทำคือ การบล็อก และรายงานไปยังผู้ดูแลแพลตฟอร์มนั้น

 

บทบาทของพ่อแม่

พ่อแม่สามารถให้คำแนะนำ และช่วยแก้ไขปัญหาได้ สิ่งสำคัญคือการป้องกันก่อนที่จะเกิดปัญหาขึ้น ซึ่งทำได้โดย
1) คอยสอดส่องดูแล สังเกตพฤติกรรมของลูกเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ฝันร้าย ปวดหัว ปวดท้อง ไม่อยากไปโรงเรียน การเรียนถดถอย พูดคุยน้อยลง ซึมลง แยกตัว อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย มีบาดแผลหรือรอยฟกซ้ำตามร่างกาย ฯลฯ
2) สร้างสัมพันธภาพที่ดี พูดคุยกับลูกอย่างสม่ำเสมอในเรื่องที่ลูกสนใจ ให้ลูกเกิดความเชื่อใจ เมื่อลูกต้องการความช่วยเหลือ เขาก็อยากมาปรึกษาด้วย
3) ส่งเสริมให้ลูกกล้าแสดงออก และมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง เพื่อให้เด็กมีวุฒิภาวะทางอารมณ์ สามารถจัดการปัญหาได้เมื่อถูกบูลลี่ และไม่ไปบูลลี่ผู้อื่น

เมื่อเกิดปัญหาขึ้นพ่อแม่สามารถช่วยเหลือลูกได้ ดังนี้
1) ให้ตั้งสติ
2) รับฟังปัญหาด้วยเหตุผล ไม่ใช้อารมณ์
3) ให้กำลังใจ ไม่ตำหนิ บอกลูกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดของเขา พร้อมบอกให้เขาเข้มแข็ง อดทน
4) ช่วยแก้ไขปัญหาเท่าที่สามารถทำได้
5) ขอความช่วยเหลือจากครูหรือผู้เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก
6) หากมีอาการเครียดมากกว่าปกติ นอนไม่หลับ เป็นเรื้อรัง หรือมีพฤติกรรมทำร้ายตนเอง ควรพาไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
7) ควรเก็บหลักฐานการกลั่นแกล้งต่าง ๆ ไว้เพื่อนำไปใช้ในการดำเนินคดีตามกฎหมายถ้าจำเป็น

 

บทบาทของครู

ครูก็สามารถให้คำแนะนำและช่วยแก้ไขปัญหาได้ เพียงไม่เพิกเฉยต่อปัญหา เน้นการมีส่วนร่วมของเด็กและครอบครัวในการแก้ไขปัญหาที่ต้นตอ สิ่งสำคัญคือการป้องกันก่อนที่จะเกิดปัญหาขึ้น ซึ่งทำได้ ดังนี้
1) มีส่วนร่วมในการสอดส่องดูแล ไม่ว่าจะเป็นเด็กที่มีแนวโน้มจะถูกกลั่นแกล้งรังแก หรือเด็กที่รังแกคนอื่น
2) สอนทักษะชีวิตให้กับนักเรียน
3) สอนให้เข้าใจถึงบทบาทของเพื่อนในชั้นเรียน ที่ต้องช่วยกันเป็นกำลังใจและปลอบใจเพื่อนที่ถูกบูลลี่ มิใช่ซ้ำเติม หรือหากพบเห็นเพื่อนที่ชอบบูลลี่คนอื่น ต้องช่วยกันแจ้งเตือน หรือช่วยเก็บหลักฐาน
4) แจ้งผู้ปกครองทราบเมื่อเกิดการบูลลี่ขึ้น และแก้ไขปัญหาร่วมกัน

 

เอกสารอ้างอิง

American Psychological Association. (2022). Bullying. [Online]. Available URL: https://www.apa.org/topics/bullying

Colino S, Broadwell L & Schuman C. (2021). How to deal with bullies: A guide for parents. [Online]. Available URL: https://www.parents.com/kids/problems/bullying/bully-proof-your-child-how-to-deal-with-bullies/

Stopbullying.gov. (2021). What Is Bullying. [Online]. Available URL: https://www.stopbullying.gov/bullying/what-is-bullying

Unicef. (2022). How to talk to your children about bullying. [Online]. Available URL: https://www.unicef.org/end-violence/how-talk-your-children-about-bullying

 

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2565). การบูลลี่. จาก https://www.happyhomeclinic.com/mh11-bullying.html

(บทความต้นฉบับ: พฤษภาคม 2565)

 

ดาวน์โหลดบทความ »
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา

จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การศึกษา

· แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
· วุฒิบัตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น (จุฬาฯ)

ข้อมูลเพิ่มเติม »

 

Autism Spectrum Disorder

Attention Deficit/ Hyperactivity Disorder

Specific Learning Disorder

Intellectual Disability

Child Development

Tourette's Disorder

Depressive Disorders in Adolescence

Bipolar Disorder in Childhood

Anxiety disorders

Separation Anxiety Disorder

Selective Mutism

Trichotillomania

ADHD-faq

Bullying

Cyberbullying

Gaming Disorder

Screen Addiction

Cannabis IQ

alternative therapy

ข้อมูลเพิ่มเติม »