HAPPY HOME CLINIC

ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม

รวบรวมและเผยแพร่ ข้อมูลความรู้ทางวิชาการ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็กและวัยรุ่น
รวมถึงการรับจัดฝึกอบรม สัมมนา กิจกรรมวิชาการ นิทรรศการเผยแพร่ความรู้
เพื่อเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง ผู้ปกครอง นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปที่สนใจ

H   A   P   P   Y       H   O   M   E       A   C   A   D   E   M   Y

 

special child

 

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

ในปัจจุบันมีปัญหาเด็กพิเศษหลากหลายรูปแบบ เช่น ออทิสติก แอสเพอร์เกอร์ แอลดี สมาธิสั้น สมองพิการ ความบกพร่องทางสติปัญญา ฯลฯ จนทำให้คุณพ่อคุณแม่ที่กำลังจะมีลูกน้อยรู้สึกวิตกกังวลว่าลูกที่จะเกิดมามีโอกาสเป็นเด็กพิเศษหรือไม่ จะรู้ล่วงหน้าก่อนเกิดได้ไหม และมีวิธีการอะไรบ้างที่จะทำให้รู้ได้ การที่จะรู้ล่วงหน้าว่าเป็นเด็กพิเศษหรือไม่ ขึ้นอยู่กับปัญหาของเด็ก แต่ละรูปแบบก็มีความแตกต่างกัน บางรูปแบบรู้ได้ก่อนเกิด บางรูปแบบเกิดแล้วค่อยรู้ บางรูปแบบเกิดแล้วก็ยังไม่รู้เลยต้องรอดูตอนโตอีกหน่อย

กลุ่มที่รู้ได้ก่อนเกิด คือ ปัญหาความผิดปกติของโครโมโซมต่างๆ เช่น ดาวน์ ซินโดรม ซึ่งเป็นความผิดปกติของโครโมโซมคู่ที่ 21 แล้วทำให้มีลักษณะรูปร่างหน้าตาที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีความผิดปกติทางร่างกายหลายอย่าง ร่วมกับมีความบกพร่องทางสติปัญญา สามารถตรวจได้ตั้งแต่ช่วงที่ตั้งครรภ์ ได้ 2 เดือนกว่า จากการตรวจโดยวิธีพิเศษ เช่น การเจาะน้ำคร่ำตรวจโครโมโซม การเจาะเลือดตรวจทางชีวเคมี ซึ่งแนะนำให้ตรวจในหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป เพราะมีความเสี่ยงสูง

ส่วนปัญหาความผิดปกติของกระโหลกศีรษะ หรือรูปร่างลักษณะพิการ ผิดรูป ก็สามารถพบได้โดยการทำอัลตร้าซาวน์ เช่นกัน กลุ่มที่เกิดแล้วค่อยรู้ เช่น สมองพิการ หรือ ซีพี (Cerebral Palsy) มีความผิดปกติในการเคลื่อนไหว กล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือเกร็งมากกว่าปกติ พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อล่าช้า สำหรับความพิการทางร่างกายก็เป็นสิ่งที่สังเกตได้ไม่ยาก ส่วนปัญหาทางด้านการมองเห็น และปัญหาการได้ยิน ในรายที่เป็นมากก็สามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจนตั้งแต่คลอดออกมาเช่นกัน

ส่วนกลุ่มที่เกิดมาแล้วดูปกติดี ยังไม่รู้ว่าจะเป็นเด็กพิเศษหรือเปล่า ต้องรอดูพัฒนาการสักระยะหนึ่งก่อน เช่น ออทิสติก แอสเพอร์เกอร์ แอลดี สมาธิสั้น

ออทิสติก ส่วนใหญ่จะรู้ได้ในช่วงขวบกว่าๆ เนื่องจากเริ่มเห็นความแตกต่างจากเด็กคนอื่นชัดเจนขึ้น ข้อบ่งชี้ที่ช่วยให้สงสัยได้ชัดเจนขึ้นคือ เมื่อเด็กอายุขวบครึ่ง เด็กยังไม่ชี้นิ้วบอกความต้องการของตัวเองเวลาอยากได้อะไร ขาดความสนใจร่วมกับคนอื่นรอบข้าง เล่นกับเด็กคนอื่นไม่เป็น เล่นบทบาทสมมติ เล่นจินตนาการไม่เป็น และมักจะยังไม่สามารถพูดเป็นคำได้ จะมีแต่ภาษาที่เป็นลักษณะเฉพาะตัว ที่เรียกว่าภาษาต่างดาว

แอสเพอร์เกอร์ ก็คล้ายกับออทิสติก แต่พูดเก่ง ความจำดี เรียนหนังสือได้ ทำให้ไม่เห็นปัญหาตั้งแต่เล็ก ต้องอาศัยความชำนาญของจิตแพทย์เด็กในการบอกว่าเป็นหรือไม่ เด็กมักจะดูงุ่มง่าม ไม่สบตาเวลาคุย ช่างถาม ถามแล้วถามซ้ำอีก และไม่ค่อยรู้กาลเทศะ เนื่องจากมีความบกพร่องในทักษะสังคม

แอลดี ก็เช่นกัน กว่าจะมารู้ชัดเจนก็ตอนที่อยู่ ป 1 แล้ว อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ หรืออ่านเขียนได้ไม่สมตามวัย หรือคิดเลขไม่เป็น ทั้งๆที่เวลาพูดคุยอย่างอื่นดูคล่องแคล่วว่องไว ไหวพริบดี

สมาธิสั้น อาจเห็นแนวโน้มความซนมาก อยู่ไม่นิ่ง มาตั้งแต่เล็ก แต่ก็ไม่สามารถยืนยันได้ชัดเจน จนกว่าจะเห็นผลกระทบที่ตามมา เช่น ทำงานไม่เสร็จทันเพื่อน ผลการเรียนต่ำกว่าความสามารถที่แท้จริง เพื่อนไม่ค่อยอยากเล่นด้วยเพราะเล่นแรง

ปัญหาส่วนใหญ่จะไม่สามารถรู้ก่อนเกิด ความผิดปกติบางอย่างที่ตรวจคัดกรองได้ตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์ ก็ควรตรวจตามคำแนะนำ ที่เหลือก็ไม่ควรไปเครียด หรือวิตกกังวล เพราะถ้ายิ่งเครียดก็ยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้นครับ การดูแลสุขภาพกาย และสุขภาพใจของคุณแม่ช่วงตั้งครรภ์ เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด คำแนะนำโดยทั่วไปมีดังนี้
  1. ควรวางแผนครอบครัวก่อนมีลูก มีลูกเมื่อพร้อม
  2. ควรฝากครรภ์โดยเร็วที่สุดและควรฝากครรภ์อย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ ตามการนัดหมาย
  3. ควรรับประทานอาหารให้เพียงพอ และหลายหลาย เพื่อให้ลูกได้รับสารอาหารครบถ้วน
  4. ควรพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่หักโหมทำงานหนักเกินไป
  5. ควรผ่อนคลายความเครียด หากิจกรรม งานอดิเรกเล็กๆน้อยๆทำ
  6. ในกรณีของการเจาะตรวจโครโมโซม จะทำเมื่อเข้าเกณฑ์ดังนี้
    · คุณ แม่อายุ 35 ปีขึ้นไป
    · เคยมีลูกเป็นดาวน์ ซินโดรม หรือโครโมโซมผิดปกติแบบอื่น
    · เคยแท้งโดยไม่รู้สาเหตุหลายครั้ง
    · สงสัยบางโรคที่สามารถตรวจได้
  7. การตรวจอัลตร้าซาวน์ ก็เป็นการคัดกรองปัญหาวิธีหนึ่งที่สะดวก ไม่เป็นอันตราย และได้ผลดี ในปัจจุบัน

สุขภาพร่างกายที่แข็งแรง สภาพจิตใจที่แข็งแกร่ง เปี่ยมด้วยความสุข เป็นเกราะป้องกันปัญหาต่างๆในตัวลูกที่กำลังจะคลอดออกมาได้อย่างดีที่สุด

 

บทความแก้ไขล่าสุด: พฤศจิกายน 2560
บทความต้นฉบับ: เมษายน 2554

 

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2560). เด็กพิเศษ - รู้ก่อนเกิดได้อย่างไร. [Online]. Available URL: happyhomeclinic.com/sc03-special-child-screen.html

 

ดาวน์โหลดบทความ »
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา

จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การศึกษา

· แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
· วุฒิบัตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น (จุฬาฯ)

ข้อมูลเพิ่มเติม »

 

special child

special child who

special child screen

special child care

special child network

disability

World Autism Awareness Day

World Down Syndrome Day

ข้อมูลเพิ่มเติม »