HAPPY HOME CLINIC

ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม

รวบรวมและเผยแพร่ ข้อมูลความรู้ทางวิชาการ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็กและวัยรุ่น
รวมถึงการรับจัดฝึกอบรม สัมมนา กิจกรรมวิชาการ นิทรรศการเผยแพร่ความรู้
เพื่อเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง ผู้ปกครอง นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปที่สนใจ

H   A   P   P   Y       H   O   M   E       A   C   A   D   E   M   Y

 

Nutritional Therapy in Autism

 

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

 

ละครบำบัด (Drama Therapy) คือ รูปแบบของการบำบัดที่นำศาสตร์ของละครมาประยุกต์ใช้อย่างเป็นระบบ ในกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของบุคคลภายใต้ความสัมพันธ์ของการบำบัดรักษา โดยนักละครบำบัด (drama therapist) นำเสนอวิธีการที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงบวกของจิตใจ อารมณ์ และพฤติกรรม เป็นศาสตร์ที่อยู่ภายใต้ร่มใหญ่ของศิลปะบำบัด

เป้าหมายของละครบำบัดมิได้ต้องการสร้างนักแสดง แต่เป็นการกระตุ้นและส่งเสริมการใช้จินตนาการ ใช้กระบวนการและเทคนิคของละครเป็นสื่อกลางในการสำรวจตัวตน รู้จักการแสดงออกทางอารมณ์และความรู้สึกอย่างเหมาะสม เน้นการพัฒนาจากสิ่งที่สามารถทำได้ ใช้อุปมาเปรียบเทียบเพื่อให้ไม่เกิดความรู้สึกว่าถูกรุกล้ำพื้นที่ส่วนบุคคล ให้อิสระในการเลือกเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยและปราศจากการตัดสินหรือประเมินค่า

เด็กออทิสติกส่วนใหญ่มีปัญหาความเข้าใจในเรื่องอารมณ์ ความรู้สึก สีหน้า ท่าทาง การแสดงออก และการตอบสนองที่เหมาะสม การเรียนรู้ผ่านการทดลองทำในกระบวนการของละครบำบัด จึงตอบสนองต่อปัญหาที่ได้ตรงจุด และยังพบว่าช่วยเสริมสร้างทักษะสังคมให้ดีขึ้นด้วย

ละครบำบัดยังถูกนำมาใช้ในการบำบัดรักษาผู้ป่วยกลุ่มต่าง ๆ เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล ยาเสพติด ปัญหาพัฒนาการต่าง ๆ ปัญหาครอบครัว เหยื่อความรุนแรง โรคเรื้อรัง ฯลฯ

ละครบำบัด ใช้เทคนิคของการแสดงออกที่หลากหลายผ่านการสื่อสาร ทั้งในรูปแบบที่ใช้ภาษาและไม่ใช้ภาษา เช่น การใช้จินตนาการ การแสดงบทบาทสมมุติ การเล่าเรื่อง การแต่งเรื่อง การสร้างตัวละคร การแสดงบทบาทตามเนื้อเรื่อง การทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับรูปและสัญลักษณ์ การใช้หุ่นกระบอกหรือหน้ากาก เป็นต้น ผู้บำบัดยังสามารถใช้กิจกรรมรูปแบบอื่นเข้าผสมผสานในการบำบัดด้วย เช่น ดนตรี การเคลื่อนไหวร่างกาย

โครงสร้างหลักในการบำบัด มี 3 ส่วน ดังนี้
      1) การอุ่นเครื่อง (warm up) เตรียมพร้อมร่างกาย เสียง และจินตนาการ
      2) เหตุการณ์หลัก (main event) เข้าสู่กระบวนการใช้จินตนาการอย่างสร้างสรรค์ ผ่านการแสดงออกรูปแบบต่าง ๆ
      3) การคืนบทบาท (grounding) ออกจากจินตนาการ กลับสู่ปัจจุบัน

ละครบำบัดสามารถทำการบำบัดได้ทั้งในรูปแบบเดี่ยวหรือกลุ่ม ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน ประมาณ 40-60 นาทีต่อครั้ง ความถี่ 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ สามารถนำมาใช้ได้ทั้งในโรงพยาบาล โรงเรียน ศูนย์สุขภาพจิต สถานบำบัด และเรือนจำ

นอกจากนี้ ยังมีการบำบัดที่รูปแบบคล้ายกัน คือ “ละครจิตบำบัด” (psychodrama therapy) ซึ่งจะเน้นไปที่เหตุการณ์ในอดีตที่กระทบกระเทือนจิตใจโดยตรง เพื่อให้ผู้รับการบำบัดเข้าใจตัวเองอย่างลึกซึ้ง แทนการสวมบทบาทตัวละคร หรือโฟกัสไปที่เนื้อเรื่องของละคร

 

เอกสารอ้างอิง

Bololia, L., Williams, J., Macmahon, K., Goodall, K. (2022). Dramatherapy for children and adolescents with autism spectrum disorder: A systematic integrative review. The Arts in Psychotherapy, 80.

Rudlin, K. (2021). What Is drama therapy? A Creative way to deal with emotions. [Online]. Available URL: https://www.verywellmind.com/what-is-drama-therapy-2610360

Pordanjani, S. R. (2021). Drama therapy in autistic children. JPCP, 9(1), 9-18.

 

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2565). ละครบำบัด. จาก https://www.happyhomeclinic.com/alt33-dramatherapy.html

(บทความต้นฉบับ: กรกฎาคม 2565)

 

ดาวน์โหลดบทความ »
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา

จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การศึกษา

· แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
· วุฒิบัตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น (จุฬาฯ)

ข้อมูลเพิ่มเติม »

 

alternative therapy

art therapy

music therapy

drama therapy

acupuncture

Nutritional Therapy in Autism

HEG: hemoencephalography

TMS: Transcranial Magnetic Stimulation

HBOT: Hyperbaric Oxygen Therapy

robot therapy

animal therapy

สุนัขบำบัด

อาชาบำบัด

โลมาบำบัด

มัจฉาบำบัด

แมวบำบัด

กระบือบำบัด

ข้อมูลเพิ่มเติม »