HAPPY HOME CLINIC

ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม

รวบรวมและเผยแพร่ ข้อมูลความรู้ทางวิชาการ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็กและวัยรุ่น
รวมถึงการรับจัดฝึกอบรม สัมมนา กิจกรรมวิชาการ นิทรรศการเผยแพร่ความรู้
เพื่อเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง ผู้ปกครอง นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปที่สนใจ

H   A   P   P   Y       H   O   M   E       A   C   A   D   E   M   Y

 

การลงโทษ ทำได้โดยไม่ต้องตี

 

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

“รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” เป็นสุภาษิตไทยที่ถ่ายทอดต่อกันมานานจนทำให้เข้าใจว่า การตีเป็นวิถีชีวิตแบบไทย ๆ ที่จะทำให้พ่อแม่เลี้ยงลูกได้ดี ครูสร้างนักเรียนให้เป็นคนดี วิธีการนี้อาจเคยใช้ได้ดีในวิถีแบบดั้งเดิม แต่ยุคสมัยเปลี่ยนแปลง บริบทสภาพสังคมเปลี่ยนไป มีมุมมองที่ว่า “คนไม่ใช่วัวไม่ใช่ควาย จะมาตีได้อย่างไร” ถ้าเรายังยึดติดอยู่กับวิธีการเดิม ๆ ก็คงไม่ได้ผลลัพธ์ที่ดี

เดิมทีมีการลงโทษโดยการเฆี่ยน ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2515 และฉบับที่ 2 พ.ศ. 2522 โดยให้เฆี่ยนด้วยไม้เรียว เหลากลม ผิวเรียบ เส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 0.7 ซม. ที่บริเวณก้นหรือขาอ่อนท่อนบนด้านหลัง ซึ่งมีเครื่องแต่งกายรับรอง กำหนดการเฆี่ยนไม่เกิน 6 ที การเฆี่ยนต้องทำในที่ไม่เปิดเผย และในลักษณะเพื่อว่ากล่าวสั่งสอนให้เข็ดหลาบ แต่ก็ถูกยกเลิกไปใน ปี พ.ศ. 2543 ถือว่าเป็นการปิดตำนานไม้เรียวในโรงเรียน

แต่อย่างไรก็ตาม จากผลการสำรวจของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย พบว่า เด็กนักเรียนเคยถูกตีในโรงเรียน ถึงร้อยละ 64 ถ้าคิดเฉพาะโรงเรียนในต่างจังหวัด ไม่รวมกรุงเทพฯ พบได้ถึงร้อยละ 70

การเฆี่ยน การตี ในปัจจุบัน ถูกมองว่าเป็นการกระทำความรุนแรง เป็นวิธีการที่ไม่เหมาะสม เริ่มไม่ได้รับการยอมรับ และยังเข้าข่ายความผิดทางกฎหมาย ฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งนักเรียนรวมทั้งผู้ปกครองสามารถร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีได้

กระทรวงศึกษาธิการ ได้ออกระเบียบว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548 ห้ามลงโทษนักเรียนและนักศึกษาด้วยวิธีรุนแรง หรือแบบกลั่นแกล้ง หรือลงโทษด้วยความโกรธ หรือด้วยความพยาบาท โดยคำนึงถึงอายุนักเรียนหรือนักศึกษา และความร้ายแรงของพฤติการณ์ประกอบการลงโทษด้วย การลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษาให้เป็นไปเพื่อเจตนาที่จะแก้นิสัย และความประพฤติไม่ดีของนักเรียนหรือนักศึกษาให้รู้สำนึกในความผิด และกลับประพฤติตนในทางที่ดีต่อไป ถ้าครูยังลงโทษด้วยความรุนแรง ก็อาจมีความผิดทางวินัย และความผิดทางอาญาด้วย

ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 กำหนดไว้ว่า ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำหรือละเว้นการกระทำ อันเป็นการทำทารุณกรรมต่อร่างกายหรือจิตใจของเด็ก

จากการศึกษาวิจัยยังพบว่า การทำโทษโดยการตี (corporal punishment) อาจนำมาซึ่งพฤติกรรมต่อต้านสังคม ความก้าวร้าว และการกระทำผิด (delinquency)

แล้วถ้าไม่ตี การลงโทษยังทำได้ไหม ถ้าดูตามระเบียบที่กล่าวถึงข้างต้น ได้กำหนดการลงโทษแก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่กระทำผิดมี 4 สถาน ดังนี้
      1. ว่ากล่าวตักเตือน
      2. ทำทัณฑ์บน
      3. ตัดคะแนนความประพฤติ
      4. ทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

ตามหลักวิธีทางจิตวิทยา หรือพฤติกรรมศาสตร์ การลงโทษ (punishment) คือการทำให้อัตราการตอบสนอง หรือความถี่ของพฤติกรรมลดลง แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

1. การลงโทษทางบวก (positive punishment)
เป็นการให้สิ่งที่บุคคลไม่พึงพอใจ มีผลทำให้บุคคลมีพฤติกรรมลดลง เช่น การให้ทำกิจกรรมชดเชย (overcorrection)

2. การลงโทษทางลบ (negative punishment)
เป็นการนำสิ่งที่บุคคลพึงพอใจออกไป มีผลทำให้บุคคลมีพฤติกรรมลดลง เช่น การไทม์เอ๊าท์หรือเข้ามุม (time out) การปรับสินไหม (response cost)

วิธีการลงโทษ

การลงโทษที่ได้ผลดี ต้องทำทันที และทำอย่างสม่ำเสมอ วิธีการลงโทษนอกเหนือจากการตี (corporal punishment) ซึ่งไม่แนะนำให้ใช้ทุกกรณี ยังมีวิธีการลงโทษที่ได้ผลดีหลายวิธี ได้แก่

1) การไทม์เอ๊าท์หรือเข้ามุม (Time out)

คือ การเอาตัวเสริมแรงทางบวกออกจากบุคคล เพื่อให้พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ลดลง แต่ถ้าพฤติกรรมเด็กหยุดแล้ว ต้องเอาตัวเสริมแรงกลับเข้ามา และเสริมแรงในพฤติกรรมใหม่ที่พึงประสงค์ทันที วิธีการทำได้โดย
    · กำหนดพฤติกรรมเป้าหมายที่จะลดหรือหยุดให้ชัดเจน โดยพูดคุยบอกกล่าวกับเด็กก่อน
    · อธิบายขั้นตอนต่าง ๆ ให้เด็กฟัง ในขณะที่ยังอารมณ์ดีอยู่ “หนูต้องไปนั่งบริเวณนั้น ถ้าทำพฤติกรรม...... ตามที่ห้าม”
    · เลือกสถานที่นั่งเข้ามุมให้เหมาะสม มองเห็นได้ ห้ามใช้ ห้องน้ำ ห้องนอน หรือระเบียงบ้าน
    · เมื่อเกิดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ ให้ไปนั่งบริเวณที่กำหนด โดยใช้เวลา 1 นาที/ อายุ 1 ปี
    · ต้องหนักแน่น ไม่ตอบสนองเด็กไม่ว่ากรณีใดทั้งสิ้น (เด็กจะร้องไห้สั้นลงเรื่อยๆ จนกระทั่งไม่ร้อง และเรียนรู้ว่าเขาสามารถควบคุมอารมณ์เองได้ โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง)
    · หากเด็กไม่ยอมนั่งเองหรือทำร้ายตัวเองขณะนั่ง ให้จับเด็กนั่งตักและกอดรัดไว้ให้แน่น ห้ามพูดหรือตอบสนองจนสงบ เมื่อเสร็จแล้วจึงพูดคุยกับด็กด้วยเหตุผลสั้น ๆ ไม่บ่น
    · เมื่อเด็กสงบแล้ว ให้กอดหรือหอมเพื่อบอกเขาว่าคุณยังรักเขาเหมือนเดิม
    · ช่วงอายุที่เหมาะสมคือ อายุ 1 ขวบครึ่งขึ้นไป

2) การปรับสินไหม (response cost)

คือ การปรับสินไหม คือ การดึงสิทธิ์หรือสิ่งของออกจากตัว เช่น ปรับเงินคนที่ขับรถผิดกฎจราจร การตัดคะแนนความประพฤติ การถูกลดเวลาเล่นเกม หรืองดทำกิจกรรมที่ชอบ

3) การว่ากล่าวตักเตือน (verbal reprimand)

คือ การว่ากล่าวตักเตือนด้วยวาจา โดยมีหลักการคือ เน้นที่พฤติกรรมให้ขัดเจน ว่าตักเตือนในพฤติกรรมใดที่ไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสม อย่าไปต่อว่าที่บุคลิกภาพหรือลักษณะนิสัย ใช้น้ำเสียงและสีหน้าที่นิ่ง ไม่ใช้อารมณ์ ในขณะว่ากล่าวตักเตือน มีเหตุผลประกอบได้เพียงสั้น ๆ ไม่ยืดเยื้อจนกลายเป็นการบ่น

4) การทำกิจกรรมชดเชย (overcorrection)

คือ การให้ทำกิจกรรมชดเชย แก้ไขเกินกว่าสิ่งที่ทำผิด แบ่งเป็น

4.1. re-stitutional overcorrection
คือ การทำสิ่งที่ผิดให้ถูกต้อง แก้ไขผลที่เกิดขึ้น ใช้กับสิ่งที่ทำผิดแล้วยังสามารถแก้ไขได้ เช่น ทำโต๊ะเลอะเทอะแล้วต้องเช็ด และให้เช็ดเพิ่มทั้งห้องด้วย, โยนหนังสือลงพื้นแล้วต้องให้เก็บ และให้ไปเก็บขยะทั่วห้องเพิ่มอีกด้วย และการเอาสิ่งของที่ขโมยมาไปคืนเพื่อน โดยต้องเอาของที่ชอบไปให้เพื่อนเป็นการชดเชยอีกด้วย

4.2. positive-practice overcorrection
คือ การฝึกทำพฤติกรรมที่ถูกต้องซ้ำหลายรอบ ใช้กับสิ่งที่ทำผิดแล้วแก้ไขไม่ได้อีก เช่น เด็กชอบขว้างบอลใส่เพื่อน ให้แก้ไขโดย ให้โยนรับส่งบอลแบบถูกต้อง 30 รอบ และเด็กที่พูดแทรก ชอบพูดตอบโดยไม่ยกมือรอเรียก แก้ไขโดย ให้ยกมือ รอเรียก แล้วค่อยตอบ 20 รอบ

4.3. negative-practice overcorrection
คือ การฝึกทำพฤติกรรมที่ผิดซ้ำหลายรอบ เพื่อให้รู้สึกเข็ดหลาบและเลิกทำไปเอง เช่น ถ้าเด็กสูบบุหรี่ก็ให้สูบทั้งซองแบบไม่หยุด ซึ่งวิธีการนี้ไม่แนะนำให้ใช้ เพราะอาจเกิดอันตรายขึ้นได้ ในตำราพบว่าระยะหลังไม่กล่าวถึงวิธีนี้แล้ว

ข้อจำกัดของการลงโทษ

การลงโทษ เป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อลดหรือหยุดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ การลงโทษอย่างไม่เหมาะสม นอกจากไม่ได้ผลแล้ว ยังทำให้เกิดผลกระทบตามมา เช่น ความขัดแย้ง ความรุนแรง ยิ่งมีพฤติกรรมที่ถูกลงโทษเพิ่มขึ้น ก็ยิ่งมีการต่อต้านที่รุนแรงขึ้น การลงโทษที่รุนแรงอาจก่อให้เกิดปัญหาทางกายและจิตใจ นำไปสู่ความก้าวร้าวได้

การลงโทษไม่ได้ทำให้พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี ไม่ได้สร้างพฤติกรรมที่พึงประสงค์ เพียงแค่เก็บกดเอาไว้เท่านั้น พฤติกรรมยังคงอยู่และพร้อมจะแสดงออกมาเมื่อหยุดการลงโทษแล้ว จึงควรมีกระบวนการสร้างพฤติกรรมที่เหมาะสม ควบคู่ไปกับการลงโทษด้วย

การลงโทษที่ไม่แน่นอน ไม่สม่ำเสมอ ก็ไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเช่นเดียวกัน ในบางครั้งเด็กก็ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงถูกลงโทษ เพราะเคยทำพฤติกรรมนั้นแล้วไม่ถูกลงโทษ

ในเด็กที่เล็กเกินไปการลงโทษก็ไม่มีประโยชน์เช่นกัน เนื่องจากเด็กยังไม่เข้าใจว่าทำไมถึงถูกลงโทษ ยังไม่สามารถเชื่อมโยงพฤติกรรมกับผลลัพธ์ที่ถูกกระทำได้

 

เอกสารอ้างอิง

การลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษา พ.ศ. 2548, ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ. (26 เมษายน 2548). ใน: ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 122 (ตอนพิเศษ 35 ง); หน้า 18-9.

คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546, พระราชบัญญัติ. (2 ตุลาคม 2546). ใน: ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 120 (ตอนที่ 95 ก); หน้า 1-29.

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ. (2561). ลงโทษนักเรียน นักศึกษา อย่างไรจึงจะไม่ถูกผู้ปกครองฟ้องร้องความผิด. [Online]. Available URL: https://www.obec.go.th/archives/677

Armstrong KH, Ogg JA, Sundman-Wheat AN and Walsh AJ. (2014). Behavioral Terms and Principles. In: Evidence-based interventions for children with challenging behavior. New York: Springer, pp.111-24

Cherry K. (2021). Punishment in Psychology. [Online] ; Available from: URL: https://www.verywellmind.com/what-is-punishment-2795413

Harell T. (2021). What Is Punishment Psychology, And Should You Use It? [Online] ; Available from: URL: https://www.betterhelp.com/advice/psychologists/what-is-punishment-psychology-and-should-you-use-it/

 

บทความต้นฉบับ: พฤษภาคม 2564

 

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2564). การลงโทษ ทำได้โดยไม่ต้องตี. [Online]. Available URL: happyhomeclinic.com/a32-punishment.html

 

ดาวน์โหลดบทความ »
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา

จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การศึกษา

· แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
· วุฒิบัตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น (จุฬาฯ)

ข้อมูลเพิ่มเติม »

 

multiple-intelligence

IQ-empowerment

EQ-empowerment

RQ: Resilience Quotient

SQ: Social Quotient

teacher for kid

punishment

ข้อมูลเพิ่มเติม »