HAPPY HOME CLINIC

ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม

รวบรวมและเผยแพร่ ข้อมูลความรู้ทางวิชาการ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็กและวัยรุ่น
รวมถึงการรับจัดฝึกอบรม สัมมนา กิจกรรมวิชาการ นิทรรศการเผยแพร่ความรู้
เพื่อเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง ผู้ปกครอง นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปที่สนใจ

H   A   P   P   Y       H   O   M   E       A   C   A   D   E   M   Y

 

Savant

 

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

 

ออทิสติกใช่ว่าจะไม่รู้เรื่อง และเรื่องที่รู้ก็ใช่ว่าจะธรรมดา

จากประสบการณ์การดูแลเด็กออทิสติกของผู้เขียน พบว่า มีเด็กหลายรายที่มีความสามารถพิเศษแสดงให้เห็นโดดเด่นชัดเจน โดยเฉพาะความจำที่เป็นเลิศ เมื่อมีความสนใจในเรื่องใด ก็จะมีความรู้เชิงลึกในเรื่องนั้นอย่างละเอียด

ยกตัวอย่างเช่น เด็กที่มีความสนใจในเรื่องอวกาศ ก็จะรู้ข้อมูลเกี่ยวกับดวงดาวทุกดวงอย่างละเอียด ทั้งข้อมูลเชิงตัวเลขและคุณลักษณะ รวมถึงการค้นพบใหม่ ๆ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ทันสมัยและมีแหล่งอ้างอิงชัดเจน และยังสามารถสเก็ตภาพประกอบอย่างง่าย ๆ ให้ดูได้อีกด้วย

เด็กที่มีความสนใจเรื่องอาคารสูง ก็จะรู้ข้อมูลความสูง อันดับความสูง จำนวนชั้น ปีที่เริ่มสร้าง ปีที่สร้างเสร็จ ตั้งอยู่ที่ไหน เป็นของใคร ใช้ทำอะไรบ้าง มีลักษณะเฉพาะอย่างไร ทั้งข้อมูลในระดับประเทศและระดับโลก ตอบได้หมด และยังสามารถวาดรูปอาคารนั้นได้เหมือนจริงอีกด้วย

เด็กบางคนสามารถคิดเลขในใจได้อย่างรวดเร็ว แม้จะเป็นตัวเลขหลายหลักก็ตาม และมักพบว่าสามารถแก้โจทย์ปัญหาทางคณิตศาสตร์ได้เกินระดับชั้นเรียนไปหลายระดับมาก

เด็กบางคนสามารถเลียนเสียงตัวการ์ตูนที่ชื่นชอบ และจำบทพูดได้ทั้งเรื่อง ทั้ง ๆ ที่เป็นภาษาต่างประเทศและเด็กยังไม่รู้ความหมายเหล่านั้น

เด็กอีกหลายคนสามารถเรียนรู้ทักษะทางดนตรีได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเปียโน ซึ่งครูสอนดนตรีมักจะชื่นชมให้ฟังบ่อยครั้ง นอกจากนี้ ยังมีเด็กที่เรียนดนตรีไทยเพียงไม่กี่ครั้ง ครูก็ให้ตีระนาดเอกและพาออกแสดงงานได้เลย

จากการศึกษาวิจัย พบว่า มีออทิสติกประมาณร้อยละ 10 ที่มีความเป็นอัจฉริยะ หรือความสามารถพิเศษเฉพาะด้าน มักเรียกกลุ่มเหล่านี้ว่า “ออทิสติกซาวองต์” (autistic savant) ซึ่งเป็นกลุ่มย่อยหนึ่งของ “ซาวองต์ซินโดรม” (savant syndrome)

คำที่ใช้เรียกขานเหล่านี้ไม่ใช่คำศัพท์ที่ใช้ในการวินิจฉัยโรคทางการแพทย์ ตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก หรือเกณฑ์ของสมาคมจิตแพทย์อเมริกันที่ใช้กันในปัจจุบัน แต่เป็นคำศัพท์ที่บัญญัติขึ้นเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน และนิยมใช้ต่อกันมา

“ซาวองต์ซินโดรม” (savant syndrome) เป็นชื่อที่ใช้เรียก กลุ่มผู้ที่มีความบกพร่องทางพัฒนาการในรูปแบบต่าง ๆ ที่มีความเป็นอัจฉริยะหรือความสามารถพิเศษเฉพาะด้านอยู่ในคนเดียวกัน ซึ่งมีความหลากหลายตั้งแต่ความสามารถแบบพิเศษ ไปจนถึงความสามารถแบบมหัศจรรย์ โดยพบได้ในกลุ่มออทิสติกมากที่สุดถึงร้อยละ 50

“ออทิสติกซาวองต์” (autistic savant) หรือที่จะเรียกว่า “อัจฉริยะ ออทิสติก” เป็นชื่อที่ใช้เรียก กลุ่มบุคคลอัจฉริยะ หรือผู้ที่มีความสามารถพิเศษเฉพาะด้าน ซึ่งเป็นออทิสติกร่วมด้วย ซึ่งก็คือกลุ่มซาวองต์ซินโดรมที่เป็นออทิสติกนั่นเอง

ส่วนใหญ่พบว่ามีความจำแบบพิเศษ (memory ability) ที่สามารถจดจำข้อมูล ข้อเท็จจริง เหตุการณ์ และตัวเลข ได้อย่างแม่นยำ เช่น จำเส้นทางเดินรถโดยสารและตารางเวลาได้ทั้งเมือง จำค่าพาย (Pi) ซึ่งเป็นค่าคงตัวทางคณิตศาสตร์ได้ถึงทศนิยมเป็นหมื่นตำแหน่ง ฯลฯ ซึ่งความจำแบบพิเศษนี้มักเป็นฐานของความสามารถด้านอื่นด้วย

ทักษะความสามารถพิเศษเฉพาะด้านที่พบ เช่น ความสามารถด้านศิลปะ (สามารถวาดรูปที่มีรายละเอียดสมจริง) ความสามารถด้านดนตรี (สามารถเล่นเครื่องดนตรีได้คล่องแคล่ว) ความสามารถด้านคณิตศาสตร์ (สามารถคิดในใจได้อย่างรวดเร็ว) ความสามารถในการคำนวณปฏิทิน (เมื่อระบุวันเดือนปีทั้งในอดีตและอนาคต สามารถตอบได้อย่างรวดเร็ว ว่าเป็นวันใดในสัปดาห์) และความสามารถด้านทักษะกลไก มิติสัมพันธ์ (สามารถกะระยะทางได้แม่นยำโดยไม่ต้องใช้เครื่องมือวัด จดจำโครงสร้างที่มีความซับซ้อนได้แม่นยำ) ฯลฯ

โดยทั่วไป แบ่งออทิสติกซาวองต์ออกเป็น 3 กลุ่ม ตามระดับความสามารถ ได้แก่ ทักษะเฉพาะส่วน (splinter skills) ซึ่งพบได้ค่อนข้างบ่อย ทักษะความสามารถพิเศษเฉพาะด้าน (talented) ซึ่งพบได้หลากหลายด้าน และทักษะความสามารถมหัศจรรย์ (prodigious) ซึ่งพบได้น้อยมาก

กลไกการพัฒนาความอัจฉริยะหรือความสามารถพิเศษเฉพาะด้านในออทิสติก ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัด มีคำอธิบายจากหลายแนวคิด ได้แก่ การฝึกซ้อมอย่างหนักเช่นเดียวกับนักกีฬา ทำให้มีทักษะดีขึ้นตามชั่วโมงการฝึกซ้อม ลักษณะอาการขาดความสนใจในสังคมภายนอก ทำให้มีเวลาหมกมุ่นอยู่กับสิ่งที่สนใจได้มากขึ้น สมมติฐานเรื่องสมองซีกซ้ายที่ถูกทำลายบางส่วน ทำให้สมองซีกขวาซึ่งมีบทบาทเกี่ยวกับความจำ และความคิดสร้างสรรค์มาทำงานชดเชยมากขึ้น ฯลฯ

มีแนวคิดในการจัดให้ “ออทิสติกซาวองต์” เป็นกลุ่มย่อยหนึ่งของออทิสติก โดยศึกษาหาคุณลักษณะเฉพาะตัว พบว่า มีความแตกต่างจากกลุ่มออทิสติกที่ไม่มีความสามารถพิเศษ ดังนี้

มีความไวของประสาทรับสัมผัส (heightened sensory sensitivity) พฤติกรรมหมกมุ่น ย้ำคิดย้ำทำ (obsessional behaviors) ความสามารถทางเทคนิคกลไกและมิติสัมพันธ์ (technical/spatial abilities) และการคิดอย่างเป็นระบบ (systemising) สูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในขณะที่ไม่มีความแตกต่างกันเรื่องทักษะทางสังคม และทักษะการสื่อความหมาย

ไม่ใช่เด็กออทิสติกทุกคนที่จะเป็นอัจฉริยะ และเด็กอัจฉริยะก็ไม่ได้เป็นออทิสติกทุกคนด้วยเช่นกัน

เริ่มจากภาพยนตร์เรื่องเรนแมนเมื่อ 30 กว่าปีก่อน และอีกหลายเรื่องที่ตามมาเกี่ยวกับอัจฉริยะออทิสติก อาจสร้างภาพจำหรือความเข้าใจผิดว่า ออทิสติกจะต้องเป็นอัจฉริยะ แต่ในความเป็นจริงเราพบความเป็นอัจฉริยะและความสามารถพิเศษเฉพาะด้าน ได้เพียงร้อยละ 10 ของกลุ่มออทิสติก ในขณะที่อีกเกือบครึ่งพบว่ามีความบกพร่องทางสติปัญญา (IQ ต่ำกว่า 70)

การทดสอบระดับเชาวน์ปัญญาในกลุ่มออทิสติก ค่าที่ได้อาจมีความคลาดเคลื่อนต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากมีข้อจำกัดในด้านภาษา ด้านพฤติกรรม และความร่วมมือในการทดสอบ นอกจากนี้ การทดสอบระดับเชาวน์ปัญญายังไม่สามารถวัดมิติด้านอื่น ๆ ของปัญญาหรือความสามารถ เช่น ด้านดนตรี ด้านศิลปะ ฯลฯ

เด็กอัจฉริยะ ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นออทิสติก หรือมีความบกพร่องทางพัฒนาการทุกคน จึงควรแยกให้ชัดเจนว่าเด็กเป็นกลุ่มไหน อัจฉริยะ (gifted) มีความสามารถพิเศษเฉพาะด้าน (talented) หรือเป็นอัจฉริยะออทิสติก (autistic savant) เนื่องจากแนวทางการส่งเสริมพัฒนาและดูแลรักษามีความแตกต่างกัน ยังพบอีกว่ามีเด็กบางคนมีลักษณะอาการคล้ายออทิสติก (autistic-like) ซึ่งอาการเหล่านี้จะดีขึ้นเมื่อเติบโตขึ้น

ในอดีตเชื่อว่า การดูแลเด็กกลุ่มนี้จะต้องเลือกระหว่างการแก้ไขความบกพร่อง หรือจะส่งเสริมความสามารถพิเศษ เพราะเชื่อว่าเมื่อแก้ไขความบกพร่องจนดีขึ้นแล้ว ความสามารถพิเศษที่มีอยู่จะสูญหายไป

ในปัจจุบันพบว่า ความเป็นอัจฉริยะหรือสามารถพิเศษเฉพาะด้านเหล่านี้ ไม่ได้ลดลงหรือหายไปเมื่อพัฒนาการดีขึ้น ตามความเชื่อแบบเดิม การส่งเสริมความสามารถพิเศษเฉพาะด้านที่มีอยู่ในเด็กออทิสติก โดยนำมาประยุกต์ใช้ในห้องเรียน ที่ทำงาน หรือที่บ้าน ยังพบว่าช่วยลดความบกพร่องที่มีในตัวเด็กควบคู่กันไปด้วย

 

เอกสารอ้างอิง

Edelson SM. (2005). Autistic savant. [Online]. Available URL: http://www.autism.org/savant.html

Hughes JE, Ward J, Gruffydd E, Baron-Cohen S, Smith P, Allison C and Simner J. (2018). Savant syndrome has a distinct psychological profile in autism. Molecular Autism. 9(53): 1-18. https://doi.org/10.1186/s13229-018-0237-1

Jeon Y. (2016). Savant syndrome: a review of research findings. Culminating Projects in Special Education. 25. [Online]. Available URL: https://repository.stcloudstate.edu/sped_etds/25

Treffert DA. (2014). Savant syndrome: realities, myths and misconceptions. J Autism Dev Disord. 44: 564–71

Treffert DA. (2021). Savant syndrome: FAQs. [Online]. Available URL: http://www.agnesian.com/page/savant-syndrome-faqs

 

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2565). ออทิสติก ซาวองต์. จาก https://www.happyhomeclinic.com/savant03-autisticsavant.html

(บทความต้นฉบับ: มกราคม 2549)

 

ดาวน์โหลดบทความ »
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา

จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การศึกษา

· แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
· วุฒิบัตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น (จุฬาฯ)

ข้อมูลเพิ่มเติม »

 

Autism Spectrum Disorder

Autism Spectrum Disorder: FAQ

Genius & Autism

Savant Syndrome

Autistic Savant

Autistic Savant Level

Autistic Savant & Cognitive style

Autistic Savant & Care

Autistic Savant & Genetic

ข้อมูลเพิ่มเติม »

 

 

 

ศูนย์วิชาการ ออทิสติก

 

ศูนย์วิชาการ ออทิสติก

 

 

ศูนย์วิชาการ ออทิสติก

Autistic Academy

รวบรวมความรู้ที่เป็นปัจจุบัน เกี่ยวกับออทิสติก (Autism Spectrum Disorder) ในแง่มุมต่างๆ แนวทางการดูแลรักษาแบบบูรณาการ รวมถึงออทิสติกที่มีความสามารถพิเศษ

· ออทิสติก - Autism Spectrum Disorder
    · ออทิสติก 10 คำถาม
    · ออทิสติกแท้ ออทิสติกเทียม
    · ออทิสติก พบได้มากแค่ไหน
    · ออทิสติก เกิดจากอะไร
    · ออทิสติก ป้องกันได้ไหม
    · ออทิสติก โตแล้วเป็นอย่างไร
    · เรียนรู้และเข้าใจเด็กออทิสติก
    · พฤติกรรมแปลกๆของเด็กออทิสติก
    · การเลี้ยงดูเด็กออทิสติก
    · เมื่อเด็กออทิสติกถึงวัยเรียน
· แนวทางการดูแลออทิสติกแบบบูรณาการ
    · การส่งเสริมพลังครอบครัว ในออทิสติก
    · การส่งเสริมความสามารถ ในออทิสติก
    · การส่งเสริมพัฒนาการ ในออทิสติก
    · การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ในออทิสติก
    · กิจกรรมบำบัด ในออทิสติก
    · แก้ไขการพูด ในออทิสติก
    · การฝึกทักษะสังคม ในออทิสติก
    · การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการศึกษา ในออทิสติก
    · การฟื้นฟูสมรรถภาพทางอาชีพ ในออทิสติก
    · การรักษาด้วยยา ในออทิสติก
· การบำบัดทางเลือก ในออทิสติก
· เด็กออทิสติกกับการเล่นสมมติ
· พฤติกรรมการเล่นในเด็กออทิสติก
· แนวทางส่งเสริมการเล่นในเด็กออทิสติก
· แอสเพอร์เกอร์
· เมื่อลูกเป็นแอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม
· พีดีดี เอ็นโอเอส
· ลิงก็เป็นออทิสติกได้
· หมาก็เป็นออทิสติกได้
· อัจฉริยะกับออทิสติก
· ซาวองต์ ซินโดรม
· ออทิสติก ซาวองต์
· ระดับความสามารถของอัจฉริยะออทิสติก
· รูปแบบการคิดของอัจฉริยะออทิสติก
· แนวทางการพัฒนาอัจฉริยะออทิสติก
· รหัสพันธุกรรมของอัจฉริยะออทิสติก
· การประเมิน อัจฉริยะออทิสติก
· Rain Man จากเรนแมน สู่ออทิสติก
· Good Doctor หมออัจฉริยะ ออทิสติก
· Move to Heaven สู่ความเข้าใจแอสเพอร์เกอร์
· Attorney Woo ทนายอัจฉริยะ ออทิสติก
· อัจฉริยะออทิสติก: คิม พีค
· อัจฉริยะออทิสติก: เทมเพิล แกรนดิน
· อัจฉริยะออทิสติก: สตีเฟน วิลท์เชียร์
· อัจฉริยะออทิสติก: แดเนียล แทมเมต

 

A   U   T   I   S   T   I   C       A   C   A   D   E   M   Y

 

 

Autism Spectrum Disorder   Autism Spectrum Disorder: FAQ   Autism Spectrum Disorder : Integrated care   Autism Spectrum Disorder : Family Empowerment   Autism Spectrum Disorder: Ability Enhancement   Autism Spectrum Disorder : Developmental Intervention   Autism Spectrum Disorder : Behavior Modification   Autism Spectrum Disorder: Occupational Therapy   Autism Spectrum Disorder : Speech Therapy   Autism Spectrum Disorder : Social Skill Training   Autism Spectrum Disorder: Educational Rehabilitation   Autism Spectrum Disorder : Vocational Rehabilitation   Autism Spectrum Disorder: Pharmacotherapy   Autism Spectrum Disorder: Alternative Therapy   Autism Spectrum Disorder: Understand   Autism Spectrum Disorder: Abnormal Behavior   Autism Spectrum Disorder: Child Rearing   Autism Spectrum Disorder: School Age   Autism Spectrum Disorder: Pretend Play   Autism Spectrum Disorder: Play Behavior   Autism Spectrum Disorder: Play Promotion  

คลิกเลือกเรื่องที่สนใจ

 

Genius & Autism   Savant Syndrome   Autistic Savant   Autistic Savant Level   Autistic Savant & Cognitive Style   Autistic Savant & Care   Autistic Savant & Genetic   Autistic Savant & Assessment   Good Doctor   Move to Heaven   Extraordinary Attorney Woo   Rain Man   Autistic Savant: Kim Peek   Autistic Savant: Temple Grandin   Autistic Savant: Stephen Wiltshire   Autistic Savant: Daniel Tammet   Asperger   Asperger Syndrome   PDD NOS   Autistic Monkey   Autistic Dog  

คลิกเลือกเรื่องที่สนใจ