HAPPY HOME CLINIC

ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม

รวบรวมและเผยแพร่ ข้อมูลความรู้ทางวิชาการ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็กและวัยรุ่น
รวมถึงการรับจัดฝึกอบรม สัมมนา กิจกรรมวิชาการ นิทรรศการเผยแพร่ความรู้
เพื่อเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง ผู้ปกครอง นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปที่สนใจ

H   A   P   P   Y       H   O   M   E       A   C   A   D   E   M   Y

 

special child

 

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

“หนูเป็นใคร มาจากไหนจ๊ะ มาอยู่กับพวกเรานานแค่ไหนแล้วล่ะ เมื่อไหร่หนูจะกลับบ้านไปจ๊ะ”
เป็นคำถามที่หลายคนอาจจะสงสัยเกี่ยวกับเด็กพิเศษ ซึ่งเริ่มใกล้ตัวพวกเรามากขึ้นเรื่อยๆ

“หนูก็เป็นเด็กคนหนึ่ง เหมือนกับเด็กคนอื่นๆ ที่ต้องการความรัก ความเอาใจใส่ และการดูแลเช่นเดียวกับเด็กคนอื่น หนูไม่ใช่ตัวประหลาดหลอกนะ เพียงแค่มีบางสิ่งบางอย่างที่หนูไม่รู้ หนูไม่เข้าใจ ต้องการการดูแลช่วยเหลือเป็นพิเศษ เพื่อที่จะได้ไปโรงเรียน เมื่อโตขึ้นก็จะได้ทำงาน เหมือนๆ กับคนอื่น หนูอยากมาอยู่กับทุกคน อย่าไล่หนูกลับบ้านไปเลยนะจ๊ะ” อาจเป็นความในใจบางอย่างที่พวกเราไม่มีโอกาสได้ยินจากเด็กกลุ่มนี้

เด็กพิเศษเป็นใคร

เด็กพิเศษ คือ เด็กที่ต้องการความดูแลช่วยเหลือเป็นพิเศษ ซึ่งเรียกย่อมาเรื่อยๆ จนกลายมาเป็น “เด็กพิเศษ” ในที่สุด คำนี้มีความหมายกว้าง ครอบคลุมเด็กที่มีความบกพร่องหรือพิการทุกกลุ่มปัญหา เด็กที่เป็นอัจฉริยะหรือมีความสามารถพิเศษเฉพาะด้าน รวมถึงเด็กยากจนหรือด้อยโอกาสทางการศึกษาด้วย แต่ในปัจจุบัน เมื่อพูดถึงเด็กพิเศษ มักนึกถึงกลุ่มเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา บกพร่องทางการเรียนรู้ และกลุ่มออทิสติก สเป็กตรัม เป็นหลัก

กลุ่มเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา (ID - Intellectual Disability) คือ กลุ่มเด็กที่มีระดับสติปัญญาต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยอย่างมีนัยสำคัญ คือมีระดับสติปัญญาต่ำกว่า 70 จากการวัดโดยแบบทดสอบมาตรฐาน จนส่งผลกระทบทำให้เด็กไม่สามารถเรียนรู้ และปรับตัวในชีวิตประจำวันได้เต็มที่เหมือนทั่วไป มีเพดานในการเรียนรู้ แต่ก็สามารถเข้าใจในเรื่องที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อนมากจนเกินไป

กลุ่มเด็กที่บกพร่องทางการเรียนรู้ หรือที่เรียกว่า แอลดี (LD - Specific Learning Disorder) คือ เด็กที่ดูลักษณะฉลาด คล่องแคล่ว รู้เรื่องดี แต่เวลาให้อ่าน เขียน หรือคิดคำนวณ กลับทำไม่ได้ดีเหมือนความฉลาดที่สังเกตเห็น แล้วแต่ว่าใครจะบกพร่องด้านไหนเป็นการเฉพาะ การอ่าน การเขียน หรือการคำนวณ อาจมีปัญหาด้านเดียว สองด้าน หรือทั้งสามด้านเลยก็ได้ เด็กกลุ่มนี้เมื่อสอบข้อเขียนมักทำไม่ได้ แต่ถ้าสอบปากเปล่าจะทำได้ดี

กลุ่มเด็กออทิสติก (ASD – Autism Spectrum Disorder) คือ เด็กที่มีความบกพร่องในพัฒนาการทางสังคม ไม่สบตา เล่นไม่เป็น มีพัฒนาการด้านภาษาและการสื่อสารบกพร่องด้วย ไม่พูด หรือพูดภาษาที่ฟังแล้วไม่เข้าใจ สนทนาไม่ต่อเนื่องเป็นเรื่องเดียวกัน และมีพฤติกรรมซ้ำๆ ความหมกมุ่น ยึดติดกับบางสิ่งบางอย่างมากเป็นพิเศษ ไม่ยืดหยุ่น ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากมาย และเด็กพิเศษในกลุ่มอื่นๆ อีก ซึ่งจะขอไม่กล่าวถึงในที่นี้ แต่เชื่อว่าทุกคนจะได้มีโอกาสสัมผัส เรียนรู้ และเข้าใจเด็กพิเศษในโอกาสต่อๆ ไปแน่นอน เพราะว่าพวกเขามาอยู่ร่วมกับพวกเราในสังคมแล้ว

เด็กพิเศษมาจากไหน

เด็กพิเศษมาจากไหน มาอยู่บนโลกใบนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่ มาอยู่กับพวกเรานานแค่ไหนแล้ว เป็นคำถามที่ตอบไม่ยาก แต่ไม่ค่อยมีใครรู้ เด็กพิเศษก็มาจากท้องแม่เหมือนกัน เพียงแค่เขามีบางอย่างที่พิเศษแตกต่างไปเท่านั้น

มีตำนานเล่าว่าเด็กพิเศษบางคนถูกอุ้มสลับตัวกับลูกของนางฟ้ามา ทำให้เขามีหน้าตาน่ารัก แต่พูดเป็นเฉพาะภาษานางฟ้า คุยกับคนอื่นไม่เข้าใจ มีแม่คนหนึ่งเคยเล่าให้ฟังว่า ที่เขาได้ลูกเป็นเด็กพิเศษนั้น เป็นเพราะว่าพระเจ้าเลือกเขาให้ดูแลเด็กคนนี้แล้ว พระเจ้าเชื่อว่าเขาสามารถดูแลเด็กคนนี้ได้ดีที่สุด จึงยอมให้มาเกิดเป็นลูกของเขา ถ้าไปเกิดที่อื่นจะไม่ดีเท่านี้ เมื่อเขามีโอกาสเช่นนี้แล้ว เขาก็ต้องทำหน้าที่แม่ให้ดีที่สุด

เด็กพิเศษมีมานานแล้วและมีมากด้วย อยู่คู่กับการกำเนิดของมนุษย์เลยก็ว่าได้ เขาอยู่กับเรามานานแล้ว แต่อยู่กันแบบคู่ขนาน ไม่ค่อยได้เจอกัน จึงไม่รู้จักกัน เวลาเจอเขา บางครั้งเราก็กลัว คิดว่าเขาแปลกประหลาด ในทางกลับกัน เขาก็กลัวเราเช่นเดียวกัน คิดว่าเราแปลกประหลาด

สาเหตุของการเกิดปัญหา ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัด เชื่อว่าอาจมีความผิดปกติในทางพันธุกรรม ซึ่งในที่นี้อาจไม่ใช่การถ่ายทอดจากพ่อแม่ แต่เป็นการกลายพันธุ์ของยีนก็ได้ รวมถึงอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อมบางอย่างที่ไม่เหมาะสม ทั้งในช่วงตั้งครรภ์ การคลอด และหลังคลอดออกมาแล้ว

เด็กพิเศษหายไปไหนมา

เมื่อก่อนนี้เราจะไม่ค่อยมีโอกาสได้เจอเด็กพิเศษ เนื่องจากพวกเขาถูกดูแลอยู่ในสถาบันหรือโรงพยาบาลเฉพาะทาง โรงเรียนพิเศษเฉพาะทาง หรือไม่ก็ถูกล่ามโซ่อยู่กับบ้าน เนื่องจากในอดีตความรู้ในด้านนี้ยังไม่มากพอ ผู้เชี่ยวชาญที่มีความเข้าใจในเรื่องนี้ก็มีไม่เพียงพอ ทำให้การดูแลช่วยเหลือถูกจำกัดอยู่ในวงแคบ มีเพียงไม่กี่แห่งที่ดูแลได้ ทำให้มีผู้เข้าถึงบริการน้อยมาก เมื่อเวลาผ่านไป ทรัพยากรการดูแลช่วยเหลือมีความพร้อมมากขึ้น พร้อมๆ กับปริมาณเด็กพิเศษที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมายมหาศาล ทำให้แนวคิดการดูแลเปลี่ยนแปลงไป การดูแลเด็กพิเศษโดยแยกออกมาดูแลช่วยเหลือเป็นการเฉพาะ เริ่มไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้องและเพียงพอเสียแล้ว จำเป็นต้องนำเด็กกลับเข้าสู่สังคมจริงๆ ให้เขาอยู่ได้จริงๆ ในครอบครัว ให้เขาสามารถไปโรงเรียนทั่วๆ ไปได้ เพื่อที่เขาจะได้เติบโตและพัฒนาในสังคมจริง และทุกคนเข้าใจเขา

ปัจจุบันนี้เปลี่ยนแปลงไปมาก เด็กในยุคสมัยนี้รู้จักเด็กพิเศษกันมากขึ้น เพราะว่าเขามีเพื่อนเป็นเด็กพิเศษ มีเพื่อนเป็นดาวน์ซินโดรม มีเพื่อนเป็นออทิสติก มีเพื่อนเป็นแอลดี และอื่นๆ อีกมากมาย เมื่อเด็กรุ่นนี้โตขึ้น เขาก็จะมีเพื่อนร่วมงานเป็นบุคคลพิเศษที่หลากหลายเช่นกัน พวกเขาไม่ต้องกลัวกันแล้ว เพราะรู้จักกัน เป็นเพื่อนกัน มีอะไรก็ช่วยเหลือกัน เด็กรุ่นนี้นับว่าโชคดี ได้เรียนรู้การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ได้เรียนรู้การปรับตัวอยู่ร่วมกันในสังคมกับผู้คนที่มีความแตกต่างหลากหลาย ได้เรียนรู้จากของจริงที่ไม่ใช่การพร่ำบอกโดยไม่เคยลงมือทำ

เมื่อลูกบอกว่ามีเพื่อนเป็นเด็กพิเศษ นับว่าโชคดีแล้วที่เขาจะได้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้ อย่าไปกังวลเลย เด็กพิเศษไม่มีพิษภัยอะไร ควรระวังไม่ให้ลูกไปรังแกเด็กพิเศษมากกว่าที่จะกลัวเด็กพิเศษมารังแกลูก แล้วผู้ใหญ่อย่างเราล่ะ จะไม่ไปทำความรู้จักกับเด็กพิเศษเลยหรือ เพราะว่าเขามาอยู่กับเราในสังคมแล้ว และจะอยู่กับเราตลอดไปด้วย

เด็กพิเศษกลับมาทำไม

เด็กพิเศษไม่ได้ต้องการความเห็นใจ และความสงสารจากผู้คนรอบข้าง เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถทำให้เขาพัฒนาได้เลย แต่เขาต้องการความเข้าใจและโอกาสเท่านั้น สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่การร้องขอ แต่เป็นความยุติธรรมที่ควรเกิดขึ้นในสังคม

ความเข้าใจเป็นจุดเริ่มต้นของการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เข้าใจว่าเด็กพิเศษแตกต่างจากเด็กคนอื่นในเรื่องใดบ้าง เด็กพิเศษแต่ละคนแตกต่างกันอย่างไร อะไรที่ทำได้มาก อะไรที่ทำได้น้อย อะไรที่ทำไม่ได้ เพื่อที่จะได้ช่วยเหลือเกื้อกูลได้ถูกทาง และระวังในบางเรื่องที่จะกระตุ้นให้เขาแย่ลง

โอกาสในการเรียนรู้ก็เป็นสิ่งที่เด็กพิเศษทุกคนต้องการเช่นเดียวกับเด็กทุกคน ถ้าเขาได้โอกาสนี้ เขาก็จะพัฒนา แต่ถ้าเขาไม่ได้โอกาสนี้เขาก็จะถดถอยเช่นกัน อะไรที่เคยทำได้แล้วก็ควรมีโอกาสได้ทำบ่อยๆ อะไรที่ยังทำไม่ได้ก็ควรมีโอกาสในการฝึกฝน อะไรที่ไม่เหมาะสมก็ควรมีโอกาสในการปรับเปลี่ยนเช่นเดียวกัน โอกาสเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถหยิบยื่นให้ได้ ถ้ามีความเข้าใจ

ดังนั้นพวกเขาต้องกลับเข้ามาอยู่ในสังคมร่วมกับพวกเรา เพื่อแสวงหาโอกาสเหล่านี้จากพวกเราทุกคน ถ้าเขาถูกแยกออกไป เขาก็จะกลายเป็นเด็กพิเศษที่ไม่รู้เรื่อง ไม่ได้พัฒนาเสียที หวังว่าคงได้เริ่มรู้จักเด็กพิเศษกันพอสมควรแล้ว ถ้าอยากรู้จักเพิ่มขึ้นก็ต้องเข้าไปสัมผัสเรียนรู้ หยิบยื่นโอกาสต่างๆ ให้ เพื่อให้เขาเป็นเด็กพิเศษที่มีคุณภาพ

ปล. ถ้าเข้าใจเด็กพิเศษแล้ว ให้ลืมคำว่าเด็กพิเศษไปเลยนะ เพราะเด็กพิเศษทุกคนก็มีชื่อเฉพาะของตัวเอง ทั้งชื่อเล่นและชื่อจริง เรียกชื่อเขาเถอะนะ อย่าเรียกเขาว่าเด็กพิเศษอีกเลย อย่าทำให้เขารู้สึกแตกต่างจากเด็กคนอื่น พวกเขาก็มีจิตใจเหมือนกัน

 

บทความแก้ไขล่าสุด: พฤศจิกายน 2560
บทความต้นฉบับ: เมษายน 2554

 

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2560). เด็กพิเศษ...หนูเป็นใคร มาจากไหน. [Online]. Available URL: happyhomeclinic.com/sc02-special-child-who.html

 

ดาวน์โหลดบทความ »
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา

จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การศึกษา

· แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
· วุฒิบัตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น (จุฬาฯ)

ข้อมูลเพิ่มเติม »

 

special child

special child who

special child screen

special child care

special child network

disability

World Autism Awareness Day

World Down Syndrome Day

ข้อมูลเพิ่มเติม »