HAPPY HOME CLINIC

ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม

รวบรวมและเผยแพร่ ข้อมูลความรู้ทางวิชาการ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็กและวัยรุ่น
รวมถึงการรับจัดฝึกอบรม สัมมนา กิจกรรมวิชาการ นิทรรศการเผยแพร่ความรู้
เพื่อเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง ผู้ปกครอง นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปที่สนใจ

H   A   P   P   Y       H   O   M   E       A   C   A   D   E   M   Y

 

Autism

 

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

 

เมื่อมีเด็กออทิสติกเป็นสมาชิกคนหนึ่งของครอบครัว จะทำอย่างไรในการเลี้ยงดูเขาให้อยู่ร่วมในสังคมได้อย่างปกติสุข และจะทำอย่างไรเพื่อให้คนในครอบครัวมีความเข้าใจร่วมกัน ในการปฏิบัติต่อเด็กออทิสติก ซึ่งมีคำแนะนำในการเลี้ยงดูเด็กออทิสติก ดังนี้

 

คำแนะนำในการเลี้ยงดูเด็กออทิสติก ในแต่ละช่วงวัย

ในการเลี้ยงดูเด็กออทิสติก โดยหลักการก็เลี้ยงเหมือนเด็กทั่วไป แต่เน้นการกระตุ้นเพิ่มเติมในจุดที่เป็นปัญหาให้เข้มข้นขึ้น ในขณะเดียวกันก็ต้องส่งเสริมในจุดที่เป็นความสามารถเฉพาะตัวของเด็กให้พัฒนาควบคู่กันไปด้วย ในแต่ละช่วงวัยก็มีส่วนสำคัญที่ต้องเน้นแตกต่างกัน ดังนี้

ในช่วงปฐมวัย 5 ขวบปีแรก ตั้งแต่เริ่มรู้ว่าเป็นออทิสติก ให้นำเข้าโปรแกรมปรับพฤติกรรมแบบเข้มข้น ส่งเสริมพัฒนาการในทุกด้านอย่างต่อเนื่อง ฝึกและแก้ไขการพูด เสริมสร้างทักษะการดูแลตนเอง และทักษะสังคมที่เหมาะสมตามวัย

เริ่มต้นด้วยการกระตุ้นให้เด็กตอบสนองอย่างสม่ำเสมอ เรียกแล้วหันมอง เน้นการมองหน้าสบตา เล่นโต้ตอบกัน โดยการกระตุ้นเด็กให้ออกจากโลกส่วนตัวของตนเอง มารับรู้และสนใจสิ่งแวดล้อมภายนอกเพิ่มขึ้น เพราะถ้าปล่อยให้เด็กเป็นไปตามธรรมชาติของเขา เด็กก็จะอยู่ในโลกส่วนตัวมากขึ้น ไม่สนใจใคร เริ่มมีอาการแย่ลงเรื่อย ๆ กระตุ้นตัวเองโดยการโยกตัว หมุนตัว เล่นมือ ส่งเสียงเป็นภาษาของตัวเอง และไม่ยอมเรียนรู้โลกภายนอกในที่สุด

ควรเตรียมความพร้อมพื้นฐานในการเรียนรู้ โดยการฝึกฝนให้เข้าใจคำสั่งง่าย ๆ และทำตามได้ เช่น ขอ ยกมือ กอดอก นั่ง ฯลฯ และฝึกฝนให้มีสมาธิจดจ่ออยู่กับกิจกรรมที่ทำได้นานพอ ไม่ลุกเดินไปมาตลอดเวลา

ในช่วงวัยเรียน เน้นฝึกฝนทักษะด้านสังคมเพิ่มขึ้น สามารถเข้ากลุ่มกิจกรรมร่วมกับเพื่อนฝูง รู้จักการรอคอย รู้จัก กฎ กติกา ในการเล่นเกม ผลัดกันเล่นผลัดกันทำ ซึ่งเป็นพื้นฐานในการเข้าใจกติกาทางสังคมต่อไป

ในช่วงวัยรุ่น มีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกายและอารมณ์อย่างมาก เริ่มรับรู้และเข้าใจความแตกต่างของตนเองกับเพื่อนฝูง จำเป็นต้องมีการเตรียมตัวให้ข้อมูล สอนให้เข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลง และความแตกต่างระหว่างบุคคลล่วงหน้า เพื่อให้เด็กไม่ตื่นเต้นตกใจจนเกินไป และสามารถปรับตัวได้เหมาะสม

การดูแลเด็กออทิสติกเป็นเรื่องยาก แต่ก็ไม่ยากจนเกินไป เพราะทุกแรงกายแรงใจที่ทุ่มเทลงไป ออกดอกออกผลให้เห็นเสมอ แม้ว่าจะใช้เวลานาน แต่ก็มีการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาให้เห็นชัดเจน

 

การเสริมสร้างพัฒนาการด้านการเรียนรู้ ต้องทำอย่างไร

พื้นฐานสำคัญของการเรียนรู้ คือ การเข้าใจคำสั่งง่าย ๆ สามารถทำตามได้ และการมีสมาธิจดจ่อได้พอประมาณ

ถ้าเด็กไม่เข้าใจคำสั่งง่าย ๆ ไม่สามารถทำตามได้ สอนอะไรไปเด็กก็ไม่ตอบสนอง ไม่เรียนรู้เต็มที่ ดังนั้นควรปรับพื้นฐานเหล่านี้ให้คงที่ก่อน โดยการปรับพฤติกรรมแบบเข้มข้น

ถ้าเด็กไม่มีสมาธิ การเรียนรู้ก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากเด็กไม่สามารถคัดกรองข้อมูลที่สอน เข้าไปเก็บในหน่วยความจำของสมองได้ ดังนั้นการฝึกฝนเด็กให้มีสมาธิจดจ่อกับกิจกรรมที่ทำได้นาน ตามความเหมาะสมในแต่ละช่วงอายุ จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี

การเลี้ยงดูแบบปกติทั่วไปอาจไม่เพียงพอ การฝึกโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางทั้งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และกิจกรรมบำบัด จะช่วยเสริมสร้างพื้นฐานสำคัญของการเรียนรู้เหล่านี้ให้มีความมั่นคงได้

 

การเสริมสร้างพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว ต้องทำอย่างไร

เด็กออทิสติกบางคน พบว่ามีปัญหาพัฒนาการช้าทุกด้านร่วมด้วย ดังนั้นควรมีการส่งเสริมพัฒนาการทุกด้านควบคู่กัน

ด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่ มักไม่ค่อยมีปัญหา เดิน วิ่ง คล่องแคล่ว ส่วนด้านกล้ามเนื้อมัดเล็ก มักพบปัญหาได้บ่อยพอสมควร เด็กอาจมีลักษณะงุ่มงาม การหยิบจับไม่ถนัด การประสานงานการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อแต่ละส่วนไม่สัมพันธ์กัน

การเสริมสร้างพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อ เน้นตามปัญหาเป็นหลัก เช่น ฝึกการเพิ่มแรงของกล้ามเนื้อ โดยการ ปั้น บีบ ดึง ตัด ยกของ ฯลฯ ฝึกการใช้นิ้วมือหยิบจับ โดยการร้อยลูกปัด เอาลูกกลมเสียบหลัก ระบายสีให้อยู่ในกรอบ และที่สำคัญคือ การรับประทานอาหาร หยิบจับช้อนเอง ซึ่งเป็นการฝึกที่ได้ผลดี เนื่องจากต้องทำสม่ำเสมอทุกวัน

 

เด็กออทิสติกมักชอบอยู่คนเดียว ไม่สบตา ไม่พาที เราจะชักจูงเขาอย่างไรให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนี้ ให้เข้าร่วมในสังคมได้

เด็กออทิสติก จะมีแนวโน้มที่อยู่ในโลกส่วนตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าไม่มีการกระตุ้น ดึงออกมา ยิ่งถ้าปล่อยทิ้งไว้ตามธรรมชาติของเด็ก ปัญหาก็ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น

การชักจูงอย่างเดียวคงได้ผลไม่เต็มที่ ต้องใช้โปรแกรมการปรับพฤติกรรม โดยนำทฤษฎีการเรียนรู้มาประยุกต์ใช้ ให้แรงเสริมทั้งการพูดชมเชย กอด ให้ของที่เด็กชอบ เมื่อเด็กสนใจทำตามคำสั่ง มีการตอบสนองต่อคำสั่งเป็นอย่างดี

ไม่ควรให้เด็กอยู่คนเดียว พูดคนเดียว เล่นคนเดียว หรือนั่งดูโทรทัศน์ทั้งวัน เพราะเป็นการเสริมให้เด็กอยู่ในโลกส่วนตัวมากขึ้น ควรดึงเด็กมาอยู่กับคนในบ้านให้มากที่สุด ปิดโทรทัศน์ งดเล่นแท็บเล็ต มือถือ หรือจำกัดเวลาดูให้น้อยที่สุด เข้าไปพูดคุยและเล่นกับเด็กให้มากขึ้น

 

การทำความเข้าใจกับสมาชิกในบ้าน เช่น บอกน้องว่าพี่เป็นออทิสติก จะใช้วิธีการอธิบายในเรื่องนี้อย่างไร

ทุกคนในครอบครัว ควรมีการรับรู้ร่วมกัน มีการพูดคุยกันเพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน และช่วยกันหาข้อมูลเพิ่มเติมจากหลาย ๆ แหล่ง ว่าออทิสติกคืออะไร แต่ละคนสามารถมีบทบาทในการช่วยเหลือได้อย่างไร การสุมหัวเข้าหากัน ปรึกษากัน จะช่วยให้วางแผนการช่วยเหลือเด็กเป็นไปในแนวทางเดียวกันได้เหมาะสม ข้อสงสัยต่าง ๆ ที่ยังสับสน อาจเก็บไว้ไปปรึกษาจิตแพทย์เด็กฯ ที่ดูแลต่อไปได้ เมื่อมีนัดตรวจประเมินในครั้งต่อไป

สำหรับน้องที่เล็กยังมีความเข้าใจในเรื่องนี้ไม่เต็มที่ ก็ควรบอกตามความสามารถในการรับรู้ตามวัย ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย และเน้นในการมีส่วนร่วม ว่าตัวน้องเองจะช่วยเหลือพี่ที่เป็นออทิสติกอย่างที่คนอื่นในบ้านช่วยเหลือได้อย่างไรบ้าง ชมเชยเมื่อน้องทำในสิ่งที่เหมาะสม และแสดงให้เด็กรู้ว่าเราภูมิใจที่เขาได้ทำสิ่งนั้น แต่ที่สำคัญคือต้องไม่คาดหวัง หรือบังคับจนเกินระดับความสามารถของเด็ก ไม่ทำให้เด็กรู้สึกว่าต้องรับภาระในการดูแลพี่ แต่ใช้การสร้างแรงจูงใจให้เขารู้สึกอยากช่วยเหลือจะดีกว่า

 

การให้เวลากับเด็กออทิสติก และการสอนให้เขารู้จักการช่วยเหลือตัวเองได้ มีวิธีการปฏิบัติอย่างไร

ยิ่งมีเวลาในการสอน ในการเล่น และพูดคุยกับเด็กมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งสามารถช่วยเหลือให้เด็กออทิสติกมีพัฒนาการที่ดีขึ้นได้เร็ว

การสอนให้เด็กรู้จักช่วยเหลือตัวเองในชีวิตประจำวันเป็นสิ่งสำคัญมาก เริ่มตั้งแต่การฝึกให้เด็กดื่มน้ำจากแก้ว รับประทานข้าวเองโดยการหยิบจับช้อน พยายามอย่าป้อน อาจจะเลอะเทอะบ้าง ไม่เป็นไรอย่าไปดุว่า เพราะสิ่งเหล่านี้จะสร้างความมั่นใจให้เด็กรู้สึกว่าทำได้ และอยากทำต่อไป ค่อย ๆ พัฒนาไปเอง ฝึกการขับถ่ายให้เป็นเวลา พาเข้าห้องน้ำเมื่อสังเกตเห็นเด็กทำท่าทางปวด ฝึกให้เด็กเก็บของเล่นเข้าที่เมื่อเล่นเสร็จแล้ว ช่วงแรกช่วยกันทำ จับมือทำ แต่ยืนยันว่าต้องทำ เมื่อเด็กทำได้ ให้ชมเชย ตบมือ กอด ให้รางวัลเป็นขนมที่เด็กชอบ เพื่อให้เด็กรู้สึกอยากทำในครั้งต่อไป

ถ้ามีเวลาในการฝึกฝนเด็กอย่างเต็มที่ เด็กย่อมมีอาการดีขึ้นได้เร็ว มีพัฒนาการที่เหมาะสมวัยตามมากขึ้น สามารถใช้ชีวิตร่วมในสังคมได้ปกติ

 

อุปสรรคที่ผู้ดูแลเด็กออทิสติกต้องเผชิญ และวิธีการแก้ไขปัญหาคืออะไร

ผู้ดูแลเด็กออทิสติกมักพบกับอุปสรรคเป็นระยะ แต่ทุกครั้งก็จะสามารถฟันฝ่าอุปสรรคได้เสมอ และเมื่อผ่านมาได้แต่ละครั้งก็จะได้เห็นพัฒนาการของเด็กที่ก้าวหน้าขึ้น สิ่งเหล่านี้จะเป็นกำลังใจในการดูแลต่อไปได้เป็นอย่างดี

อุปสรรคที่สำคัญในการฝึกฝนเด็กช่วงแรกคือ เด็กต่อต้าน ไม่ร่วมมือ ไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ท้อแท้หมดกำลังใจ ซึ่งพ่อแม่ส่วนใหญ่ก็ผ่านช่วงเวลานี้มาแล้ว และอีกหลายคนกำลังจะผ่านไปได้ ขอเป็นกำลังใจให้

อย่าตั้งความหวังสูงเกินไปในช่วงแรก ค่อย ๆ ก้าวไปที่ละขั้น เพราะว่าพัฒนาการเป็นเสมือนขั้นบันได ที่ไม่มีทางลัด ไม่มีลิฟท์ ให้ขึ้นไปได้อย่างรวดเร็ว ถ้าคาดหวังว่าเด็กจะต้องพูดได้ภายใน 1 เดือน ก็คงทำให้หมดกำลังใจได้ง่าย แต่ถ้าคาดหวังว่าเด็กจะพอเข้าใจคำสั่งง่าย ๆ และทำตามได้บ้าง ก็จะมีกำลังใจสู้ต่อไป พอเด็กทำได้แล้วค่อยคาดหวังเพิ่มขึ้นในเรื่องอื่นต่อไป

ช่วงแรกที่เริ่มแก้ไขปัญหา อย่าเพิ่งมองไกลเกินไปว่าโตขึ้นจะเป็นอย่างไร ต่อให้เด็กไม่เป็นอะไร เราก็ยังนึกไม่ออกเลย ค่อย ๆ คิดไปทีละขั้น จะทำให้คิดบนพื้นฐานความเป็นไปได้มากที่สุด

อุปสรรคที่สำคัญอีกอย่างคือ ความอ่อนล้าจากการฝึกฝน เป็นธรรมดาที่จะรู้สึกอ่อนล้า เบื่อหน่าย และท้อแท้บ้างเป็นบางเวลา หลังจากได้ทุ่มเทฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง อ่อนล้าก็พัก เติมกำลังใจให้ตัวเอง แล้วกลับมาตั้งต้นใหม่เมื่อพร้อม อย่าไปรู้สึกผิดที่บางช่วงทุ่มเทไม่เต็มที่ เพราะแม้แต่เครื่องยนต์ยังไม่สามารถเดินเครื่องตลอดเวลาโดยไม่ได้หยุดพัก บางช่วงเวลาเด็กอาจมีพัฒนาการที่ถดถอยไปบ้าง แต่เมื่อกระตุ้นแล้วก็จะกลับมาเหมือนเดิมได้อย่างรวดเร็ว เพราะสิ่งใดที่เคยทำได้แล้วย่อมไม่มีหายไปไหน

ทุกปัญหามีทางแก้ แต่ต้องใช้เวลา ไม่มีทางตัน เพียงแต่บางเวลาอาจยังค้นหาทางออกไม่เจอเท่านั้นเอง การพยายามคิดวิเคราะห์ มองปัญหาอย่างรอบด้าน และช่วยกันมองหลาย ๆ คน จะมองเห็นทางออกในที่สุด

 

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2565). การเลี้ยงดูเด็กออทิสติก. จาก https://www.happyhomeclinic.com/au08-rearing.htm

(บทความต้นฉบับ: มีนาคม 2549)

 

ดาวน์โหลดบทความ »
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา

จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การศึกษา

· แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
· วุฒิบัตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น (จุฬาฯ)

ข้อมูลเพิ่มเติม »

 

Autism Spectrum Disorder

Attention Deficit/ Hyperactivity Disorder

Specific Learning Disorder

Intellectual Disability

Child Development

Selective Mutism

Tourette's Disorder

Trichotillomania

ADHD-faq

alternative therapy

ข้อมูลเพิ่มเติม »

 

 

 

ศูนย์วิชาการ ออทิสติก

 

ศูนย์วิชาการ ออทิสติก

 

 

ศูนย์วิชาการ ออทิสติก

Autistic Academy

รวบรวมความรู้ที่เป็นปัจจุบัน เกี่ยวกับออทิสติก (Autism Spectrum Disorder) ในแง่มุมต่างๆ แนวทางการดูแลรักษาแบบบูรณาการ รวมถึงออทิสติกที่มีความสามารถพิเศษ

· ออทิสติก - Autism Spectrum Disorder
    · ออทิสติก 10 คำถาม
    · ออทิสติกแท้ ออทิสติกเทียม
    · ออทิสติก พบได้มากแค่ไหน
    · ออทิสติก เกิดจากอะไร
    · ออทิสติก ป้องกันได้ไหม
    · ออทิสติก โตแล้วเป็นอย่างไร
    · เรียนรู้และเข้าใจเด็กออทิสติก
    · พฤติกรรมแปลกๆของเด็กออทิสติก
    · การเลี้ยงดูเด็กออทิสติก
    · เมื่อเด็กออทิสติกถึงวัยเรียน
· แนวทางการดูแลออทิสติกแบบบูรณาการ
    · การส่งเสริมพลังครอบครัว ในออทิสติก
    · การส่งเสริมความสามารถ ในออทิสติก
    · การส่งเสริมพัฒนาการ ในออทิสติก
    · การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ในออทิสติก
    · กิจกรรมบำบัด ในออทิสติก
    · แก้ไขการพูด ในออทิสติก
    · การฝึกทักษะสังคม ในออทิสติก
    · การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการศึกษา ในออทิสติก
    · การฟื้นฟูสมรรถภาพทางอาชีพ ในออทิสติก
    · การรักษาด้วยยา ในออทิสติก
· การบำบัดทางเลือก ในออทิสติก
· เด็กออทิสติกกับการเล่นสมมติ
· พฤติกรรมการเล่นในเด็กออทิสติก
· แนวทางส่งเสริมการเล่นในเด็กออทิสติก
· แอสเพอร์เกอร์
· เมื่อลูกเป็นแอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม
· พีดีดี เอ็นโอเอส
· ลิงก็เป็นออทิสติกได้
· หมาก็เป็นออทิสติกได้
· อัจฉริยะกับออทิสติก
· ซาวองต์ ซินโดรม
· ออทิสติก ซาวองต์
· ระดับความสามารถของอัจฉริยะออทิสติก
· รูปแบบการคิดของอัจฉริยะออทิสติก
· แนวทางการพัฒนาอัจฉริยะออทิสติก
· รหัสพันธุกรรมของอัจฉริยะออทิสติก
· การประเมิน อัจฉริยะออทิสติก
· Rain Man จากเรนแมน สู่ออทิสติก
· Good Doctor หมออัจฉริยะ ออทิสติก
· Move to Heaven สู่ความเข้าใจแอสเพอร์เกอร์
· Attorney Woo ทนายอัจฉริยะ ออทิสติก
· อัจฉริยะออทิสติก: คิม พีค
· อัจฉริยะออทิสติก: เทมเพิล แกรนดิน
· อัจฉริยะออทิสติก: สตีเฟน วิลท์เชียร์
· อัจฉริยะออทิสติก: แดเนียล แทมเมต

 

A   U   T   I   S   T   I   C       A   C   A   D   E   M   Y

 

 

Autism Spectrum Disorder   Autism Spectrum Disorder: FAQ   Autism Spectrum Disorder : Integrated care   Autism Spectrum Disorder : Family Empowerment   Autism Spectrum Disorder: Ability Enhancement   Autism Spectrum Disorder : Developmental Intervention   Autism Spectrum Disorder : Behavior Modification   Autism Spectrum Disorder: Occupational Therapy   Autism Spectrum Disorder : Speech Therapy   Autism Spectrum Disorder : Social Skill Training   Autism Spectrum Disorder: Educational Rehabilitation   Autism Spectrum Disorder : Vocational Rehabilitation   Autism Spectrum Disorder: Pharmacotherapy   Autism Spectrum Disorder: Alternative Therapy   Autism Spectrum Disorder: Understand   Autism Spectrum Disorder: Abnormal Behavior   Autism Spectrum Disorder: Child Rearing   Autism Spectrum Disorder: School Age   Autism Spectrum Disorder: Pretend Play   Autism Spectrum Disorder: Play Behavior   Autism Spectrum Disorder: Play Promotion  

คลิกเลือกเรื่องที่สนใจ

 

Genius & Autism   Savant Syndrome   Autistic Savant   Autistic Savant Level   Autistic Savant & Cognitive Style   Autistic Savant & Care   Autistic Savant & Genetic   Autistic Savant & Assessment   Good Doctor   Move to Heaven   Extraordinary Attorney Woo   Rain Man   Autistic Savant: Kim Peek   Autistic Savant: Temple Grandin   Autistic Savant: Stephen Wiltshire   Autistic Savant: Daniel Tammet   Asperger   Asperger Syndrome   PDD NOS   Autistic Monkey   Autistic Dog  

คลิกเลือกเรื่องที่สนใจ